กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการ “เครือข่ายอิงกันแบ่งปันความสุข” ระหว่างวันที่ 14 — 16 มกราคม 2547 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนพิการ และกลุ่มอาสาสมัครนักศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อกัน
นางมยุรา มนะสิการ โฆษกประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก เมื่อปีงบประมาณ 2546 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดโครงการเครือข่ายอิงกันแบ่งปันความสุข ระหว่างคนพิการและอาสาสมัครนักศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนพิการ และกลุ่มอาสาสมัครนักศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน มีความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อกัน ซึ่งจากการประเมินผลโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติและสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้กับอาสาสมัครนักศึกษา อีกทั้งคนพิการที่เข้าร่วมกิจกรรม มีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งทางด้านอารมณ์ การเรียนรู้ การปรับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอก รวมทั้งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ยังทำให้คนพิการมีขวัญ กำลังใจที่จะดำเนินชีวิตร่วมกับคนปกติในชุมชน ได้รับรู้ความเอื้ออาทรของคนในสังคม ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเติมเต็มความรู้สึกที่ดีให้กัน
โฆษกประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวต่อว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2547 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขยายผลการดำเนินการดังกล่าวลงสู่ชุมชน โดยการจัดกิจกรรมประสานสัมพันธ์ระหว่างคนพิการทั้งในสถานสงเคราะห์ และในชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครนักศึกษา ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของคนพิการตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 โดยจัดให้คนพิการและอาสาสมัครนักศึกษาไปทัศนศึกษาดูงานร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ นี้จะทำให้คนพิการทั้งในสถานสงเคราะห์และชุมชน มีเครือข่ายในการฟื้นฟูพัฒนาสมรรถภาพ พัฒนาศักยภาพของคนพิการ รู้จักใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชน มีขวัญ กำลังใจที่จะดำเนินชีวิตร่วมกับคนปกติในชุมชน เป็นบุคคลที่มีคุณภาพสามารถพึ่งตนเองได้ และทำประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป ซึ่งระหว่างวันที่ 14 — 16 มกราคม 2547 นี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดโครงการเครือข่ายอิงกันแบ่งปันความสุขระหว่างคนพิการจากชุมชน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจากสถานสงเคราะห์คนพิการฯ บางปะกง รวม 35 คน และอาสาสมัครนักศึกษาจากสถาบันราชภัฎราชนครินทร์ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวม 35 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยในวันที่ 14 มกราคม เป็นการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับคนพิการ การช่วยเหลือคนพิการประเภทต่าง ๆ ให้แก่คนพิการและอาสาสมัครนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ส่วนในวันที่ 15 — 16 มกราคม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะไปศึกษาดูงานการฝึกอาชีพคนพิการ ณ โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นจะเดินทางไปเข้าค่ายจัดกิจกรรม ณ กองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธินหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จังหวัดชลบุรี เพื่อทำกิจกรรมประสานสัมพันธ์ระหว่างคนพิการและอาสาสมัครนักศึกษา
นางมยุรา กล่าวตอนท้ายว่า การจัดโครงการเครือข่ายอิงกันฯ ครั้งนี้ เราได้อาสาสมัครนักศึกษาเข้ามาเป็นเครือข่ายในการทำงานกับคนพิการ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในอันที่จะทำให้สังคมมีความสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน ส่งผลให้สังคมของเราเป็นสังคมที่มีการพึ่งพา เกื้อกูลกัน รู้รักษ์สามัคคี มีวัฒนธรรมที่ดีงาม ครอบครัวมีความเข้มแข็ง รวมทั้งทำให้เกิดเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศต่อไป--จบ--
-สพ-