ราคาข้าวไทยในตลาดโลกเพิ่มสูง อาเซียนโชว์มาตรการฟู้ดเซ็คเคียวริตี้ เผย 3 ระบบกันป้องกันปัญหา คู่แข่งเวียดนามถูกหั่นพื้นที่ปลูกข้าวทำนิคมอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday November 1, 2011 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่าตามที่นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ ให้เกาะติดสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศนั้น มีรายงานจาก ถึงสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์รายงานว่า สถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทยไม่เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ราคาจำหน่ายข้าวในตลาดสิงคโปร์สูงขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์และอาเซียนอื่นๆ มีระบบเฝ้าระวังและการสำรองข้าวอาเซียนสิงคโปร์ยังคงต้องพึงเฝ้าระวังการเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน 2554 เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการจัดหาข้าว และในขณะเดียวกัน สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย และสหรัฐฯ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หากราคาข้าวหอมมะลิไทยที่เป็นที่นิยมของชาวสิงคโปร์มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยคิดเป็นร้อยละ 50 ของการนำเข้ารวม และคิดเป็นอัตราน้อยกว่าร้อยละ 2 ของการส่งออกข้าวรวมของไทย และนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ราคาข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 9”นางนันทวัลย์ กล่าว สิงคโปร์มีแผนการในการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวและมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ 1.การนำเข้าข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆทั่วโลก 2. นโยบายสต๊อคไพล์ข้าว ที่ผู้นำเข้าต้องเก็บสำรองข้าวไว้ในโกดังอย่างน้อยเป็นเวลา 2 เดือนก่อนนำออกจำหน่าย 3. ความร่วมมือกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำและผู้ค้าปลีกเพื่อที่จะนำเสนอข้าวชนิดอื่นๆ ที่มีรสชาติอร่อยและมีคุณภาพดี รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆที่ทดแทนได้ ให้แก่ผู้บริโภคพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริโภคแทนข้าว สำหรับการนำเข้าข้าวของสิงคโปร์จากไทยและกัมพูชาจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ถึงแม้ว่าอุทกภัยทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย และเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศได้ให้ความมั่นใจว่า ยังมีข้าวปริมาณเพียงพอในการส่งออก โดยเฉพาะกัมพูชา อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญในไทยกล่าวว่า หากน้ำลดลงเร็ว การเก็บเกี่ยวข้าวสามารถทำได้ในเดือนธันวาคม โดยไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ คาดว่า น้ำท่วมคงจะลดลงภายใน 1 เดือน สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปีละประมาณ 288,000-327,000 ตัน ปี 2553 สิงคโปร์นำเข้าข้าวรวม 249,287 ตัน มูลค่าการนำเข้า 249 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 164,219 ตัน มูลค่า 149.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 60 ซึ่งลดลงร้อยละ 4 จากปี 2552 และส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยตั้งแต่ปี 2551-2553 ลดลงอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 73, 65 และ 60 ตามลำดับ) การผู้บริโภคชาวสิงคโปร์นิยมบริโภคข้าวหอม (Fragrant Rice) และข้าวหอมมะลิ (Hom Mali Rice) ร้อยละ 84 (15,000 ตัน/เดือน) ที่เหลือบริโภคข้าวบาสมาติและข้าวนึ่ง (5,000 ตัน/เดือน) โดยคู่แข่งที่สำคัญ คืแ เวียดนาม และอินเดีย นางนันทวัลย์ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม แจ้งว่า เวียดนามมีความกังวลว่า จากการที่ราคาข้าวในประเทศไทยสูงขึ้น จะเป็นผลให้ผู้ค้าข้าวไทยและจีนบางรายมากว้านซื้อข้าวจากเวียดนามในลักษณะที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อนำเข้าผ่านชายแดน จึงทำให้เวียดนามต้องจับตาดูและวางมาตรการเกี่ยวกับ ความมั่นคงด้านอาหาร(FOOD SECURITY) ไม่ให้ปริมาณข้าวในประเทศหายไปจากตลาด “รัฐบาลเวียดนามถือว่าข้าวเป็นสินค้าที่สำคัญ ซึ่งต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและส่งผลดีต่อประเทศ ที่น่าสนใจ คือ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เวียดนามอาจจะสูญเสียพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 1,875,000 ไร่ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นชุมชนเมือง เขตอุตสาหกรรม และภาคบริการต่างๆ ทั้งนี้เป็นไปตามแผนการพัฒนาพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของจำนวนประชากรและการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามระบุว่า ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่เกษตร ประมาณ 25,625,000 ไร่ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการนำพื้นที่เกษตรประมาณ 2,187,500 ไร่ ไปใช้เป็นนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ชุมชนเมือง และการผลิตนอกภาคการเกษตร”นางนันทวัลย์ กล่าว นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสมาคมอาหารเวียดนาม แจ้งว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เวียดนามส่งออกข้าวแล้วกว่า 5.8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านเหรียญสหรํฐ โดยในเดือนกันยายน 2554 ส่งออกจำนวน 560,020 ตัน มูลค่า 291.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เวียดนามตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2554 จำนวน 7 ล้านตัน สำนักประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ