สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 24-28 ต.ค. 54 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2011 09:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ปตท. ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 24-28 ต.ค. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.83 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 107.44 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.68 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 92.38 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.85 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 110.65 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล น้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.03 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 125.95 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยลดลง 2.23 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 121.17 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ที่ประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปมีมาตรการชัดเจนในการจัดการวิกฤตหนี้สาธารณะ โดยมีมติเพิ่มขนาดกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป หรือ EFSF จากเดิม 4.4 แสนล้านยูโร เป็น 1 ล้านล้านยูโร รวมถึงมีมติให้ภาคเอกชนที่สมัครใจลดมูลค่าการลงทุนในพันธบัตรกรีซลง 50% ส่งผลให้ภาระหนี้สินของรัฐบาลกรีซลดลง 1 แสนล้านยูโร - การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯดีขึ้นตามสัญญาณบวกของดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค. 54 อยู่ที่ 402,000 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2,000 ราย และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ขยายตัว 2.5% (ไตรมาสที่ 1 และ 2 ขยายตัว 0.4% และ 1.3% ตามลำดับ) - ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนในเดือน ต.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 51.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.2 จุด - บริษัท เชลล์ ประกาศเริ่มเดินเครื่องหน่วยกลั่นหมายเลข 3 ของโรงกลั่น Bukum ในสิงคโปร์ กำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้อัตราการกลั่นเพิ่มสู่ระดับ 50% ภายในสัปดาห์นี้ หลังต้องหยุดการกลั่นเพราะประสบเหตุเพลิงไหม้ปลายเดือน ก. ย. 54 และมีกำหนดเดินเครื่อง 100% ภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 54 ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียล่าสุด เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบทยอยกลับมาดำเนินการอาทิแหล่ง Sharara ขนาด 200,000 บาร์เรลต่อวัน เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตที่ระดับ 70,000 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างขั้นตอนเพิ่มระดับการผลิตเป็น 100,000 บาร์เรลต่อวัน - ทบวงสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ต.ค. 54 เพิ่มขึ้น 4.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 337 ล้านบาร์เรล ขณะที่น้ำมันเบนซิน ลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 204.9 ล้านบาร์เรล และ น้ำมันดีเซลลดลง 4.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 145.5 ล้านบาร์เรล - โรงกลั่นอินเดียดำเนินการกลั่นน้ำมันดิบเดือน ก.ย. 54 ลดลงจากเดือนก่อน 9.5% อยู่ที่ระดับ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมีโรงกลั่นหลายแห่งในประเทศปิดซ่อมบำรุงในช่วงฤดูฝน - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแหล่ง Buzzard ที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ในเดือน ต.ค. 54 กลับมาอยู่ในระดับปกติที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 220,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการทดสอบเดินเครื่องแท่นผลิตหมายเลข 4 แล้วเสร็จ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังผู้นำสหภาพยุโรปประกาศแผนในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินกับกรีซ และเพิ่มวงเงินให้กองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป อีกทั้งสถิติทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ขยายตัว 2.5% ช่วยเสริมความมั่นใจแก่นักลงทุนทำให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในน้ำมันมากขึ้น ประกอบกับปริมาณการกลั่นน้ำมันของจีนปี 2554 อยู่ที่ระดับ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน 8.5% และประเทศในเขตหนาวทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียเริ่มเก็บสำรองน้ำมันเพื่อใช้ช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่คาดว่าจะต้องนำเข้าน้ำมันมากกว่าระดับปกติเนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หยุดดำเนินการอย่างไรก็ตามปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียเดือน พ.ย. 54 อยู่ที่ 350,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเท่าตัวและ ผู้เชียวชาญด้านพลังงานโลกเห็นว่าราคาน้ำมันที่สูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกประสบปัญหา คาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะปรับตัวในกรอบ 90-95 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลและ ราคาน้ำมันดิบ Brent ที่ 102-107 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ทั้งนี้ควรติดตาม การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee) วันที่ 1-2 พ.ย. การประชุมธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) วันที่ 3 พ.ย. การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G-20 วันที่ 3-4 พ.ย. และ ปริมาณสำรองน้ำมันเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อราคาน้ำมัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2537-1630 โทรสาร 0 2537-2171

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ