กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--มีเดีย ออฟ มีเดียส์
คำแถลง ชี้แจงกรณี
ภาพยนตร์เชิงสารคดี พระพุทธเจ้า
ตามที่ได้มีหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" และหนังสือพิมพ์ "บ้านเมือง" ได้ลงข่าวในเนื้อหาที่กล่าวถึงการบิดเบือนพระพุทธศาสนาของภาพยนตร์วีซีดีเรื่อง "กำเนิดพระพุทธเจ้า" ดังรายละเอียด ที่ได้ทราบแล้วนั้น บริษัท โกลบัล เกทเวย์ จำกัด ในฐานะที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เผยแพร่ทางโทรทัศน์ ขอชี้แจงเพื่อความเข้าใจโดยทั่วกันว่า แรกเริ่มที่ได้เห็นภาพยนตร์ชุดดังกล่าว บริษัทฯเห็นว่าภาพยนตร์เชิงสารคดี พระพุทธเจ้า เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยมีแกนเรื่องที่นำเสนอเรื่องราวของศึกษาพุทธจริยวัตรของพระมหาบุรุษจากพุทธประวัติของพระองค์ที่สะท้อนภาพของการมีเมตตา กรุณา การเสียสละ ความเพียร การใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา รวมถึงการบำเพ็ญเพียรและการตั้งปณิธานในการตั้งมั่นที่จะเป็นพระผู้ประเสริฐของ พุทธองค์ที่ทรงยอมทิ้งทรัพย์ศฤงคาร เพื่อค้นหาความจริงของชีวิต จนค้นพบหนทางในการตรัสรู้ ในที่สุด ซึ่งชาวพุทธทุกคนน่าที่จะศึกษาและนำมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงได้มีเจตนารมณ์ที่จะเผยแพร่ภาพยนตร์ชุดนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจแต่เนื่องจากการนำเสนอของผู้สร้างอินเดีย นำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์ละคร ไม่ใช่การนำเสนอในเชิงสารคดีแบบชีวประวัติ (Biography) ผู้สร้างอินเดียจึงได้เพิ่มเติมส่วนประกอบอื่นๆในเรื่องของบท และการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์วีซีดีเรื่อง กำเนิดพระพุทธเจ้า ในชุดนี้ตามความเชื่อและการค้นคว้าของประเทศตน จึงทำให้มีเรื่องราวของเทพฯในศาสนาหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องตามที่เป็นข่าว
ซึ่งหากยังจำได้ทางฝั่งอเมริกา ก็เคยนำเสนอภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha ผู้สร้างก็ใส่มุมมองต่อพุทธศาสนาตามความเชื่อและการค้นคว้าของตน หรือแม้แต่ในอดีตก็ยังมีเรื่องราว พุทธประวัตินำเสนอต่อสาธารณชนมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็จะถูกสร้างตามความเชื่อและ การสืบค้นของผู้สร้างในพื้นที่นั้นๆมาโดยตลอด
ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลทางด้านพุทธศาสนาพบว่า หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์รวมถึงเรื่องราวในพุทธประวัติบางส่วนก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในบางพื้นที่ จนทำให้เกิดนิกายต่างๆ ขึ้นเช่น นิกายหินยาน นิกายมหายาน หรือแม้กระทั่งพุทธแบบเซ็นในประเทศญี่ปุ่น พุทธแบบลามะของธิเบต และถึงแม้ว่าการเดินทางของหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะเดินทางจากชมพูทวีปสู่ดินแดนใดก็ตาม สุดท้ายเราจะพบว่า เรามีแก่นแท้ของพุทธศาสนาเดียวกันเพียงแต่อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามวัฒนธรรมสังคม และความเหมาะสมของท้องถิ่นนั้นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์
สารคดีการ์ตูนที่สร้างเกี่ยวกับพุทธประวัติ จึงมีเนื้อหาบางแง่มุมที่เหมือนและแตกต่างกัน แต่ทุกๆ เจตนารมณ์ของผู้สร้างล้วนแล้วแต่มีหัวใจของความศรัทธา ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอด พุทธศาสนาทั้งสิ้น
ถึงแม้พุทธประวัติที่ถูกสร้าง จะสร้างงานขึ้นจากความเชื่อและการสืบค้นของแต่ละประเทศก็ตาม ที่สำคัญการที่ผู้สร้างในอินเดียจะหยิบงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนามาผลิตเป็นภาพยนตร์และละคร จะต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลอินเดียเท่านั้น จึงจะสามารถดำเนินการผลิตได้
ถึงแม้รายละเอียดจะเป็นดังที่แจ้ง แต่บริษัทฯก็มิได้นิ่งนอนใจ ด้วยเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจเกิดการเข้าใจผิดต่อผู้ชมชาวไทย บริษัทฯจึงได้นำภาพยนตร์ดังกล่าวไปพบ พระธรรมปิฎก (วัดราชโอรส) ,ศ.พิเศษเสฐียรพงศ์ วรรณปก ราชบัณฑิต เพื่อหารือ พร้อมทั้งอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติด้านวรรณกรรม ปี 2546 ผู้เชี่ยวชาญและคลุกคลีกับประเทศอินเดีย เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาของภาพยนตร์ชุดนี้ ซึ่งหากศึกษาและชมอย่างครบถ้วนแล้วจะพบว่า บริษัทฯได้สอดแทรกการตีความในบางแง่มุมของพุทธประวัติที่มีประโยชน์ คุโนประการกับพุทธศาสนิกชนและผู้ที่สนใจ โดยมีศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นผู้ให้เกียรติในการอธิบายความและดึงประเด็นให้เข้ามาใกล้ตัวกับชีวิตประจำวันโดยมองเห็นเป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติตามได้ สอดแทรกลงในเนื้อหาที่เป็นส่วนละคร โดยเรียกรูปแบบการนำเสนอนี้ว่า ภาพยนตร์เชิงสารคดี
หลังจากที่รายการได้ทำการออกอากาศไป ทางสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยซึ่งนำโดยคุณยงยุทธ ธนะปุระ เลขาธิการสภาฯได้แสดงความห่วงใย และติดต่อกับทางบริษัทฯเพื่อขอเข้าร่วมตรวจสอบเทปภาพยนตร์เชิงสารคดี พระพุทธเจ้า ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ ซึ่งทางบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ก็ได้ให้ความร่วมมือ โดยมีการตรวจสอบเทปทั้งหมดเป็นเวลา 3 วันคือ ในวันที่ 16 ธ.ค. 2546,วันที่ 23 ธ.ค. 2546 และวันที่ 7 ม.ค. 2547 ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมชมดังนี้คือ
1. คุณยงยุทธ ธนะปุระ เลขาธิการสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
2. อ.ชำนาญ นิสารัตน์ ศึกษานิเทศก์
3. อ.วรเดช อมรวรพิพัฒน์
4. ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
ซึ่งหลังจากชมเทปภาพยนตร์เชิงสารคดี พระพุทธเจ้า จนจบทั้งหมด คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แสดงความคิดเห็นและมุมมองในการแก้ไขจนมีข้อสรุปเป็นรายละเอียดชัดเจน โดยทางบริษัทฯมีความยินดีในการแก้ไขเทปตามข้อสรุปของคณะทำงานทุกประการ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของเทป ทุกตอนที่จะนำไปออกอากาศ ส่วนในด้านการเผยแพร่ในรูปแบบของวีซีดีและดีวีดี ซึ่งได้ดำเนินการไปก่อนหน้าที่สภาองค์กรพระพุทธศาสนาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา ด้วยกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากกว่า และต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตล่วงหน้าจึงทำให้มีรายละเอียดที่แตกต่างกับเทปที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ทั้งนี้จากกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น บริษัทฯก็ได้สั่งการให้ปรับปรุงเนื้อหาที่นำเสนอในวีซีดีและดีวีดี ให้เป็นเนื้อหาที่ได้ปรับปรุงและผ่านการพิจารณาแล้วจากผู้ทรงคุณวุฒิ
โดยเร่งด่วน ซึ่งหากดูจากวันที่พิจารณาจะเห็นว่าเพิ่งผ่านพ้นไปเพียง 8 วันเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนในการแก้ไขจะต้องแก้ไขในตัวต้นฉบับที่ออกอากาศก่อน และนำต้นฉบับนั้นมาเพื่อจัดทำเป็นมาสเตอร์วีซีดี ตัวใหม่ขึ้น
จากวันเวลาและขั้นตอนในการแก้ไขนี้เองที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่าบริษัทฯ มิได้สนใจที่จะแก้ไขเนื้อหาในวีซีดีอย่างที่เป็นข่าว บริษัทฯมุ่งหวังว่าภาพยนตร์เชิงสารคดี พระพุทธเจ้า จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสืบทอดพุทธศาสนาและศึกษาแง่คิดที่ได้จากพุทธประวัติ อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเรื่องราวพุทธประวัติในต่างมุมมอง เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองในการศึกษา ตามคำสอนของพุทธองค์ในบท กาลามสูตร ที่ตีความได้ว่า
อย่าเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา
อย่าเชื่อเพราะข่าวลือ
อย่าเชื่อเพราะปฏิบัติสืบต่อกันมา
อย่าเชื่อที่อ้างว่าเป็นตำรา
อย่าเชื่อการตรึกตรองตามอาการ
อย่าเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการคาดคะเนของตนเอง
อย่าเชื่อในสิ่งที่เป็นความคิดของตนเอง
อย่าเชื่อผู้พูดที่เป็นครู
อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ
อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น
สิ่งใดดี วิญญูชนควรสรรเสริญ เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็น่าเชื่อถือและปฏิบัติตาม
และสุดท้ายบริษัทใคร่ขอขอบคุณความร่วมมือที่ดีจากคณะทำงานจากผู้ทรงคุณวุฒิที่สละเวลาในการเข้าร่วมนั่งชมภาพยนตร์ และแสดงความคิดเห็นในการทำให้การนำเสนอภาพยนตร์เชิงสารคดี พระพุทธเจ้า ในครั้งนี้มีความสมบูรณ์ ด้วยปณิธานร่วมกันที่มีความตั้งใจอันดี ในการเป็นส่วนหนึ่งของการจรรโลงพระพุทธศาสนาในยืนยงอยู่กับคนไทยไปอีกนานเท่านาน
สอบถามเพิ่มเติม : ณัจยา ชาญกล (อ้อย) 01-801-7817
แผนกประชาสัมพันธ์ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน)
โทร.02-376-0503-10 ต่อ 637--จบ--
-รก-