กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
ไทยแหล่งฟาร์มเลี้ยงจระเข้ส่งออกใหญ่ที่สุดในโลก เผยแบรนด์ดังระดับโลกเซ็นสัญญาซื้อล่วงหน้า หวั่นไม่มีหนังจระเข้ ชี้การเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ของไทยได้มาตรฐานติดไมโครชิฟ
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าส่งออก ตามนโยบายของนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ถึงอุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้ไทยและโอกาสในตลาดสหรัฐความต้องการของตลาดโลกว่า หนังจระเข้เป็นสินค้าที่ถูกจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ประเภทหนึ่งที่มีความต้องการในตลาดโลกสูงและมีราคาดี เพราะหนัง(exotic skin) ที่สวยงามตามธรรมชาติ หายาก จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาส่งออกสูงแพง ประกอบกับมีความแข็งแรงทนทานเหมาะสำหรับผลิตเป็นของใช้เช่นกระเป๋า รองเท้า เข็มขัด หรือแม้กระทั่งใช้ในการผลิตสินค้าเคหะสิ่งทอสำหรับบ้านและรถยนต์
“บริษัทผู้ผลิตยี่ห้อดังระดับโลก เช่น เฮอร์เมส(Hermes),ชาแนล(Chanel), Balenciaga และ Mulberry เป็นต้น สนนราคาตั้งแต่ 20,000 - 40,000 เหรียญสหรัฐฯ และการลงทุนของบริษัท LVMH Moet Hennessy-LouisVuitton ผลิตสินค้าแบรนด์ลุยส์วิคตองได้ทุ่มเงินกว่า 125 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อซื้อและถือครองหุ้น (ร้อยละ 51) บริษัท Heng Long International Ltd. ของสิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายหนังจระเข้ฟอกแล้วที่ใหญ่ที่สุด1 ใน 5 ของโลก”” นางนันทวัลย์ กล่าว
การลงทุนดังกล่าวเพื่อเป็นหลักประกันอุปทานหนังจระเข้คุณภาพสูง การที่หนังจระเข้มีราคาแพงมากเช่นนี้ เนื่องจากกระเป๋าหนังจระเข้คุณภาพสูง อาจจะต้องใช้หนังจระเข้ถึงสี่ตัวในการผลิตกระเป๋าหนึ่งใบ เพราะต้องเลือกเอาเฉพาะหนังส่วนที่ต้องการที่มีลวดลายตามต้องการสินค้ากลุ่ม “หนังจระเข้” โดยหนังจระเข้ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาดโลก คือ หนังส่วนท้อง และที่เป็นหนังจระเข้น้ำเค็ม(Crocodylus porosus) ที่เป็นจระเข้พื้นเมืองในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ทั้งนี้การบริโภคและความต้องการเฉพาะในตลาดสหรัฐฯนั้น มีการเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส แจ้งเพิ่มเติมว่า ความต้องการในแต่ละปีขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มแฟชั่น ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯความต้องการบริโภคหนังจระเข้อยู่ในสภาวะชะลอตัว ในขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อจระเข้ (Alligator) ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ปกติแล้วส่วนใหญ่จะขายเป็นสินค้าแช่เยือกแข็งทั้งที่ยังติดกระดูก ถอดกระดูกแล้ว หรือถอดกระดูกและทำให้นิ่ม นอกจากจะขายเป็นชิ้นเนื้อแล้วยังมีการนำไปผลิตเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น ไส้กรอก หรือเนื้อบดปั้นเป็นก้อน
ส่วนใหญ่ของการบริโภคสินค้าหนังจระเข้ในตลาดสหรัฐฯจะเป็นสินค้าสำหรับผู้ชายเช่นกระเป๋าสตางค์และรองเท้าคาวบอย แตกต่างจากการบริโภคในตลาดยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าสำหรับผู้หญิง เช่น กระเป๋าถือ ภาคธุรกิจและภาครัฐที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯทำความพยายามที่จะสร้างภาพพจน์สินค้าที่ทำจากหนังจระเข้ว่า มาจากระบบการผลิตที่ช่วยอนุรักษ์ค้ำจุนประชากรจระเข้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จสามารถส่งผลกระทบในทางที่ดีกับทัศนะคติของผู้บริโภคสหรัฐฯกฎระเบียบการส่งออก/การนำเข้าของสหรัฐฯการส่งออกและการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จระเข้ อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎระเบียบระหว่างประเทศและภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ
ไทยเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงอยู่ประมาณ 22 ฟาร์มที่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับจระเข้ได้ และมีผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่ประมาณ 929 ราย มีจำนวนประชากรจระเข้ทั่วประเทศไทยประมาณ 7 แสนตัว สินค้าที่สามารถผลิตได้จากจระเข้มีทั้งเนื้อ หนัง (หนังจระเข้ขนาด 1 เมตรจะมีราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท) และแม้กระทั่งเลือดจระเข้ที่มีทำวิจัย เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทยที่กฎหมายยินยอมให้มีการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์
อนึ่ง การเพาะเลี้ยงจระเข้ในไทยถูกต้องตามกฎหมาย ในฟาร์มเลี้ยงเพื่อการพาณิชย์ จระเข้ที่ถูกนำมาผลิตเป็นสินค้านี้จะต้องมีการฝังไมโครชิพ คือ 1. ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 2. บริษัทศรีราชาฟาร์ม จำกัด จังหวัดชลบุรี 3. บริษัทฟาร์มจระเข้สวนสัตว์รีสอร์ท (ฟาร์มจระเข้หนองใหญ่) จังหวัดชลบุรี 4. บริษัทฟาร์มจระเข้พัทยา จำกัด จังหวัดชลบุรี 5. บริษัทฟาร์มจระเข้วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท6. บริษัทฟาร์มจระเข้สามพราน จำกัด จังหวัดนครปฐม 7. ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์อุทัย รัตน์ จังหวัดอุทัยธานี 8. ฟาร์มจระเข้หวาบิน จังหวัดสมุทรปราการ 9. ประสิทธิ์ฟาร์ม จังหวัดสระบุรี 10. คุ้มพนัต ฟาร์ม จังหวัดสมุทรสาคร 11. เจ อาร์ ฟาร์ม จังหวัดราชบุรี 12 บริษัท Golden Crocodile Agriculture, Co., Ltd. จังหวัดนครปฐม และ 13. รุ่งทวีชัย ฟาร์มจระเข้ จังหวัดนครปฐม