กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ จะเริ่มส่งผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ Hard disk drive เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับความเสียหาย ซึ่งจะส่งผล MPI ลดลงจากช่วงปกติ ขณะที่ MPI เดือนกันยายน 2554 ลดลง -0.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.35% อุตสาหกรรมที่ทำให้ MPI ลดลงได้แก่ Hard disk drive-หลอดอิเล็กทรอนิกส์-ผ้าผืน-เม็ดพลาสติก ขณะที่ยานยนต์ ยังมีการผลิตและจำหน่ายเพิ่ม
การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง 6.9% และ 9.6% ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบในกลุ่มนี้ลดลง รวมทั้งตลาดโลกมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง เนื่องจากตลาดเริ่มอิ่มตัว
การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง 7.6% และ 6.8% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลง ในเดือนนี้ผู้ประกอบการอยู่ในภาวะเพื่อเตรียมการรับมือวิกฤติน้ำท่วม จึงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายดังกล่าว โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป แม้จะเข้าสู่ช่วง High Season ของการผลิต แต่วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่สวนอุตสาหกรรมบางกระดี และเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญในสินค้ากลุ่มนี้ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก คาดว่าจะส่งผลต่อการผลิตตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงสิ้นปี
การผลิตผ้าผืน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง 25.4%และ22.7% เนื่องจากฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักการขาดแคลน และมีราคาค่อนข้างสูงมาก อีกทั้งตลาดส่งออกหลักในสหรัฐอเมริกา และยุโรปประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้คำสั่งซื้อลดลง
การผลิตเม็ดพลาสติก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง 12.1%และ9.0% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ในประเทศคาดว่าหลังวิกฤติน้ำท่วมใหญ่คลี่คลายความต้องการเม็ดพลาสติกจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆได้หลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องใช้ในครัวเรือนเกือบทุกชนิด
ขณะที่ การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย เพิ่มขึ้น 28.2%และ 22.2% ตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นในทุกประเภทรถยนต์ ซึ่งประกอบด้วย รถยนต์นั่งขนาด 1500-1800 ซีซี ขนาด 2000-2400 ซีซี และ รถกะบะ เพิ่มขึ้น 44.5%,47.2%และ 20.0% ตามลำดับ เนื่องจากเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคมที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งทั้งในจังหวัดอยุธยา และปทุมธานี เกิดน้ำท่วมใหญ่ ส่งผลต่อโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เสียหาย จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดการชะลอตัวไปจนถึงสิ้นปี
สรุปตัวเลข MPI เดือนกันยายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 200.43 ลดลง -0.5% จากระดับ 201.47 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 210.66 เพิ่มขึ้น 3.04% จากระดับ 204.44 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 198.58 เพิ่มขึ้น 7.55% จากระดับ 184.64 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 120.11 ลดลง -2.11% จากระดับ 122.70 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 152.88 เพิ่มขึ้น 13.91% จากระดับ 134.21 และ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.35%