กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เพราะการเรียนรู้ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไม่อาจเรียนรู้ได้เพียงการท่องจำ หากคุณครูสามารถคิดวิเคราะห์และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ดี ลูกศิษย์ตัวน้อยก็พลอยได้เรียนรู้ “หลักคิด” นี้จากการลงมือปฏิบัติด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท คลับ ครีเอทีฟ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล จึงได้นำเครื่องมือ “การออกแบบการเรียนรู้” ที่ตนมีความชำนาญมาจัดการอบรมเป็นเวลา 2 วันเต็มๆ แก่ คุณครูหัวใจพอเพียง จากโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา 13 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "ปลูกความคิด สาธิตผ่านศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงฯ" วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และกระตุ้นให้คุณครูมีกระบวนการคิดแบบองค์รวม สามารถสื่อสารแนวคิด และจัดการเรียนรู้ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ชัดเจน
เริ่มต้นกิจกรรมแรก “การค้นหาเพื่อค้นพบและการตีความ” คุณครูพอเพียงซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นรายโรงเรียนแล้วจะได้รับโจทย์ให้ทำแบบจำลองของโรงเรียน สิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ลงบนกระดาษแข็งแผ่นโต ใช้ดินสอสีหลายแท่งขีดๆ เขียนๆ วาดแผนผังของโรงเรียน นำบล็อกไม้และตัวต่อพลาสติกมาจัดเรียงเป็นตัวอาคารเรียนและตึกรามบ้านช่อง หยิบดินน้ำมันหลากสีมาปั้นเป็นตัวคนบ้าง ข้าวของต่างๆ บ้าง ตกแต่งให้สวยงาม
สุดท้ายที่การนำกระดาษแข็งที่ตัดไว้แล้วเป็นเส้นยาวๆ มาเขียนคำอธิบายและโยงใยให้เห็นความสัมพันธ์ของหน่วยย่อยต่างๆ ในชุมชน ทั้งบ้าน วัด หน่วยราชการ ฯลฯ ที่มีต่อโรงเรียน และกลับกัน ความสัมพันธ์ที่โรงเรียนมีต่อชุมชนเหล่านั้น เป็นอันเสร็จสิ้นการสร้างแบบจำลองของโรงเรียน “ขั้นตอน” ซึ่งจะทำให้โรงเรียนได้ย้อนกลับมาสำรวจตนเอง เพื่อให้เห็นปัญหา และทบทวนความต้องการที่แท้จริงของตนเองอีกครั้ง
ขั้นตอนต่อมา “ออกแบบแนวคิด” วิทยากรจากคลับ ครีเอทีฟ ได้ตั้งคำถามชี้ชวนให้คุณครูพอเพียงได้ครุ่นคิดลึกซึ้งลงไปอีกขั้น อาทิ มีปัญหาอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชน ลองสวมหมวกนักเรียนแล้วนึกถึงสิ่งที่นักเรียนต้องการจากโรงเรียนว่าคืออะไร อะไรที่ขาดหายไป และอะไรที่ควรเติมเข้าไป จากนั้นจึงช่วยกันจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำเป็นสิ่งแรก โดยพิจารณาจาก “ระดับความสำคัญของปัญหา” กับ “ความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา” ก่อนคุณครูแต่ละโรงเรียนจะได้ระดมความคิดร่วมกันอีกครั้งเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ทำเป็น “แผนผังกลุ่มความคิด” และคัดเลือกแนวคิดที่เหมาะสมนำกลับไปทำจริงที่โรงเรียนภายใต้การให้คำแนะนำจากทีมวิทยากรอย่างใกล้ชิด
อ.นาตยา โยธาศิริ คุณครูแกนนำขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนโพนทองวิทยายน จังหวัดร้อยเอ็ด สะท้อนว่า รู้สึกประทับใจในกิจกรรมครั้งนี้ เพราะทำให้ได้กลับมาวิเคราะห์โรงเรียนตัวเอง ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก รวมถึงต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ทำให้มองเห็นภาพโรงเรียนชัดเจนมากขึ้นว่าหากต้องการทำอะไร จะต้องคำนึงถึงความสำคัญ และความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะทำก่อนเป็นขั้นตอนแรก ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม เช่นการเลือกระหว่างการปรับปรุงและการสร้างห้องน้ำเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน
ในส่วนของการขยายผลเพิ่มเติมที่โรงเรียนโพนทองวิทยายน อ.ประดิษฐ์ อินทร์งาม คุณครูสอนวิชาศิลปะที่เข้าร่วมการอบรมด้วยเสริมว่า จะนำกระบวนการอบรมครั้งนี้ไปปรับใช้กับการสอนศิลปะของตนเอง เช่น การมอบหมายให้นักเรียนแต่ละห้องเรียน ตั้งแต่ชั้น ม. 1 — ม. 6 ทำโครงงานศึกษาและร่วมกันทำแบบจำลองศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนขึ้นด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในชุมชน เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้นักเรียนได้รู้จักศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์ฯ มากขึ้น
เช่นเดียวกับ อ.จันทร์เพ็ญ นาวาระ คุณครูสอนวิชาศิลปะอีกท่านจากโรงเรียนแม่พริกวิทยา จังหวัดลำปาง สะท้อนเพิ่มเติมว่า มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้แล้วได้เรียนรู้แนวคิดที่สามารถนำกลับไปใช้จัดการเรียนการสอนแก่ลูกศิษย์ได้จริง โดยส่วนตัว อ.จันทร์เพ็ญ รู้สึกประทับใจกับแนวคิด ให้ครูลองสวมหมวกนักเรียน เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการและวิธีการเรียนรู้ของลูกศิษย์ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ตัวครูเองมักจะเป็นผู้คิดและกำหนดกิจกรรมต่างๆ เองแล้วให้นักเรียนทำตาม แต่แนวคิดนี้จะทำให้ครูได้เปิดรับความคิดเห็นของเด็กๆ มาผสมผสานด้วย เพื่อให้ได้รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม
“วิธีนี้จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น และในที่สุด เขาจะสนุกกับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าเมื่อเรานำไปขยายผลสู่การจัดการเรียนการสอนสาระวิชาต่างๆ ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการช่วยโรงเรียนแก้ปัญหา นักเรียนมาโรงเรียนแต่ไม่ยอมเข้าชั้นเรียน ได้อีกทางหนึ่งด้วย” ครูแกนนำขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนแม่พริกวิทยากล่าวปิดท้าย.