กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
กรมส่งออกฯเผยเตรียมแผนเยียวยาผู้ประกอบการ ชง“รมว.โต้ง-ยอด”นัดถกเอกชน 18 พ.ย.แล้วตั้งแต่ปลายตุลา แต่เอกชนบอกเอง “ขอขนสินค้าหนีน้ำก่อน คอยน้ำลด แล้วค่อยหารือ” หลายหน่วยงานมีแผนรับมือระยะสั้น กลางและยาวไว้อย่างเป็นระบบ รอรัฐบาลอนุมัติ
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ครอบคลุมกว่า 20 จังหวัด ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ส่งออก ตลอดจนประชาชนทั่วไป การประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ,สินค้าไลฟ์สไตล์,กลุ่มสินค้าแฟชั่น และกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนได้รับผลกระทบเสียหายมากที่สุด โดยพบว่ามี 4 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการผลิตสินค้า ปริมาณการผลิต และมูลค่าการส่งออก คือ 1.โรงงานได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน 2. ปัญหาด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ 3.การขาดแคลนวัตถุดิบและ 4. ปัญหาขาดแคลนคนงาน กระทรวงพาณิชย์โดยนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ ได้สั่งการและประสานงานอย่างใกล้ชิดตลอดมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากภาคเอกชน เพื่อนำเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ โดยจะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ทั้งได้กำชับไปยังทูตพาณิชย์ 65 แห่งทั่วโลก ให้เร่งสร้างความมั่นใจต่อเอกชน คู่ค้า และนักลงทุนที่มีการลงทุนในไทยถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป
“นายศิริวัฒน์ ได้สั่งการให้มีการหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อพิจารณาหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งได้เลื่อนมาจากเดิมที่กำหนดจะหารือในเดือนตุลาคม แต่ภาคเอกชนต้องการเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการส่งออก ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สายด่วน 1169 หรือที่สำนักส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อการส่งออก ติดต่อ 8170 นอกจากนี้ได้สั่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลก 65 แห่ง ได้แสวงหาแหล่งวัตถุดิบตามความต้องการของภาคเอกชน/ภาคการส่งออก ตลอดถึงการจัดหาเครื่องจักรเพื่อทดแทนที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรม
นางนันทวัลย์ ยังกล่าวต่อไปว่า กรมฯ ได้รวบรวมความต้องการของภาคเอกชนที่ประสบปัญหาจากอุทกภัยและได้รายงานข้อมูลนี้ต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเร่งรัดและเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. (Portfolio Guarantee Scheme) วงเงินสินเชื่อค้ำประกัน 23,000 ล้านบาท และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน
สำนักประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34