กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--คต.
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ผู้บริโภคในหลายประเทศของสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ โปแลนด์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร มีอาการคันผิวหนัง ระคายเคือง ผิวแดงไหม้ และบางรายเกิดอาการหายใจติดขัด เนื่องจากสัมผัสถูกสาร Dimethylfumarate (DMF : CAS. No. 624 49-7) ซึ่งเป็นสารที่บรรจุในถุงขนาดเล็ก อยู่ในสินค้าเฟอร์นิเจอร์หรือรองเท้าหนัง เพื่อฆ่าเชื้อราที่จะทำลายสินค้าในช่วงการขนส่งและการเก็บรักษาในที่มีอากาศชื้น จากปัญหาความไม่ปลอดภัยดังกล่าว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและผู้บริโภค จึงได้ออกข้อกำหนดห้ามวางจำหน่ายสินค้าอุปโภคที่มีสาร DMF เป็นการชั่วคราว (Commission Decision 2009/251/EC) โดยให้ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมาธิการยุโรปได้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2555
ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2554 คณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งต่อ WTO ขอแก้ไข the Regulation EC 1907/2006 ภาคผนวก 17 มีผลทำให้สาร DMF ถูกห้ามใช้เป็นการถาวร อย่างไรก็ดี EU กำหนดปริมาณสาร DMF ให้มีในส่วนประกอบสินค้าได้ไม่เกิน 0.1 mg/kg ทั้งนี้ EU เห็นว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดช่วง Transition Period เนื่องจากได้ห้ามใช้สารดังกล่าวเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว
ในปี 2554 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไป EU มูลค่า 1,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 14 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2555 เป็นต้นไป สินค้าที่ส่งออกไป EU โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องหนัง ผู้ประกอบการไทยไม่ควรใช้สาร DMF เพื่อป้องกันเชื้อราในสินค้ากลุ่มดังกล่าว รวมทั้งสินค้าอุปโภคอื่นๆ ด้วย