กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--เอ.พี.ฮอนด้า
ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 2546 ที่ผ่านมา สร้างสถิติใหม่ด้วยยอดการจำหน่ายสูงสุดที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งมีปริมาณสูงถึงกว่า 1.75 ล้านคัน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 32% ในขณะที่ฮอนด้ามียอดจำหน่ายสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 16 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดขยายตัวเนื่องจากภาวะด้านเศรษฐกิจที่มีความคล่องตัวทั้งในระดับท้องถิ่นและโดยรวม อันเกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อมีมาก ขณะเดียวกันค่ายผู้ผลิตต่างมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านราคาจำหน่ายที่ประหยัด และความคุ้มค่าในการใช้งาน
บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด รายงานสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2546 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ายอดการจำหน่ายโดยรวมมีทั้งสิ้น 1,755,297 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีปริมาณ 1,332,744 คัน มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 422,553 คัน หรือมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายดังกล่าวนับว่าได้สร้างสถิติใหม่ในการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย โดยเป็นยอดการจำหน่ายสูงสุดต่อปีที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ยอดจำหน่ายสูงสุดต่อปี คือ 1,464,942 คัน ในปี 2538
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดเกิดจากนโยบายการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐบาล ซึ่งทำให้เศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและโดยรวมมีการหมุนเวียนและคล่องตัว ประกอบกับผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น อันเป็นผลให้กำลังซื้อในตลาดมีมาก ในขณะที่ค่ายผู้ผลิตต่างๆ มุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในด้านราคาจำหน่ายที่ประหยัด รวมทั้งให้ความคุ้มค่าต่อการใช้งาน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันสามารถขยายฐานตลาดให้กว้างขวางและครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
แต่ทั้งนี้มีข้อสังเกตคือ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2546 ตลาดมีการขยายตัวค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 55% ขณะที่ครึ่งหลังของปีมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยเพียง 14% เป็นผลเนื่องมาจากการวางตลาดเป็นครั้งแรกของรถราคาประหยัดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2545 ทำให้ตลาดมีการขยายตัวสูงเป็นอย่างมากและต่อเนื่องจนถึงปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบช่วงครึ่งปีแรกระหว่างปี 2546 และ 2545 แล้ว ตลาดมีการเติบโตสูงเป็นเพราะได้รับแรงผลักดันจากการขยายฐานตลาดของกลุ่มรถราคาประหยัด ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบครึ่งปีหลังของทั้งสองปีดังกล่าว ตลาดเป็นการเติบโตตามสภาวะปกติจึงมีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนัก
สำหรับสภาพทั่วไปของตลาดในปีที่ผ่านมา ประเภทรถที่ได้รับความนิยมจากตลาดมากที่สุดคือ รถประเภทครอบครัว ทั้งนี้เนื่องมาจากรถที่มีราคาจำหน่ายประหยัดเป็นรถประเภทนี้ทั้งสิ้น โดยกลุ่มรถครอบครัวมีปริมาณการจำหน่ายทั้งสิ้น 1,618,274 คัน คิดเป็นสัดส่วนตลาด 92% มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 45% ในขณะที่รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ตมีอัตราการเติบโตลดลง 37% ซึ่งมีปริมาณการจำหน่าย 117,172 คัน สัดส่วนตลาด 7% และรถแบบสปอร์ต 19,851 คัน สัดส่วนตลาด 1% อัตราการเติบโตลดลง 36% และเมื่อแบ่งเป็นประเภทเครื่องยนต์แล้ว รถแบบเครื่องยนต์ 4 จังหวะ มีปริมาณการจำหน่ายสูงสุด 1,724,929 คัน ครองสัดส่วนตลาด 98% ส่วน รถแบบ 2 จังหวะ มีปริมาณ 30,368 คัน สัดส่วน 2%
ในด้านรายละเอียดยอดการจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกของปี 2546 มีดังนี้ รถจักรยานยนต์ฮอนด้ามีปริมาณสูงสุด ส่งผลให้ครองยอดการจำหน่ายสูงสุดเป็นเวลาติดต่อกัน 16 ปี โดยมีปริมาณ 1,248,601 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 71% และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 29% , ซูซูกิ 231,922 คัน อัตราครองตลาด 13% เติบโตเพิ่มขึ้น 34% , ยามาฮ่า 189,399 คัน อัตราครองตลาด 11% เติบโตเพิ่มขึ้น 33% , ไทเกอร์ 46,151 คัน อัตราครองตลาด 3% , คาวาซากิ 30,584 คัน อัตราครองตลาด 2% เติบโตลดลง 13% และอื่นๆ 8,640 คัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: คุณคณาธิป เทศสีแดง
ฝ่ายส่งเสริมการจำหน่าย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด
โทร. 0-2757-6111 ต่อ 2504 , 0-1376-6804
แฟ็กซ์ : 0-2757-6222 Email : kanatip@aphonda.co.th--จบ--
-นห-