กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สกว.
โครงการ " โครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี " ของ สกว.เดินหน้าแจก 200 ทุนวิจัยทำโครงงานเทอมสุดท้ายสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อป้อนตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังขาดแคลน เน้นบูรณาการปัญหาอุตสาหกรรมกับการศึกษา พร้อมหนุนต่อเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ปัญหาสำคัญของภาคอุตสาหกรรมขณะนี้คือการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพโดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จึงสนับสนุนให้เกิดการผลิตแรงงานคุณภาพในด้านนี้ ผ่านการให้ทุนวิจัยทำโครงงานในเทอมสุดท้ายก่อนจบของนักศึกษาปริญญาตรีในด้านนี้ ภายใต้โครงการ " โครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี "ของฝ่ายอุตสาหกรรม
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการสนับสนุนให้นักศึกษานำปัญหาที่พบจากการฝึกงานมาเป็นโจทย์ โดยบูรณาการปัญหาจริงในอุตสาหกรรมเข้ากับการศึกษาผ่านทางวิชาโครงงานปีสุดท้าย (final year project) เนื่องจากตระหนักว่าอุตสาหกรรมต้องการบัณฑิตวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีที่พร้อมและมีทัศนคติที่ดีในการทำงานอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยหวังว่าในอนาคตอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยจะปรับวัฒนธรรมการทำงานเข้าหากันและสานให้กิจกรรมของแต่ละฝ่ายเกิดประโยชน์ต่อกันได้ ซึ่งจะเป็นกลไกให้งานวิจัยในมหาวิทยาลัยตอบสนองความต้องการจริงของอุตสาหกรรมมากขึ้น
โครงการฯแบ่งการให้ทุนออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) ทุนโครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี(IPUS) สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้ายเพื่อทำโครงงาน เพื่อให้บัณฑิตเข้าใจสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมและมีประสบการณ์ฝึกงานเข้ากับหลักสูตร final year project 2)ทุนโครงงานวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี(RPUS1) เป็นโครงการสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาตรีให้มีความพร้อมจะเป็นนักวิจัยระดับหลังปริญญาตรี มีวัตถุประสงค์สร้างคนให้เป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยระดับสูงต่อไปโดยตั้งเป้าไว้ที่นักศึกษาที่มีศักยภาพศึกษาต่อระดับสูงกว่าปริญญาตรีสนับสนุนให้นักศึกษาทำโครงงานวิจัยกับอาจารย์ที่มีทุนวิจัยอยู่แล้ว โดยเป็นเรื่องและทุนขนาดใหญ่พอที่จะเป็นวิทยานิพนธ์เมื่อนักศึกษาเข้าหลักสูตรปริญญาโท ทุนนี้จึงเป็นการเตรียมพร้อมในการศึกษาต่อ และ 3)ทุนโครงงานวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี(RPUS2) เป็นทุนที่ให้เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากผลงานที่มีความเหมาะสมในการนำสู่เชิงพาณิชย์ โดยโครงการนี้ต้องทำร่วมกันระหว่างนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ที่จะผลิตเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์กับนักศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจหรือวิทยาการจัดการที่จะเป็นผู้ศึกษาด้านธุรกิจของเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อให้เมื่อจบแล้วสามารถนำผลงานหรือความรู้ที่ได้ไปประกอบวิชาชีพเปิดกิจการเป็นของตัวเอง
รศ.ดร.สุธีระ กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้ โครงการฯได้จัดสรรงบประมาณออกเป็น 200 ทุน โดยกำหนดรับข้อเสนอโครงงานเพื่อขอรับทุนแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่1ธ.ค.46-31 มี.ค.47 และ ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 1พ.ค.47-16 มิ.ย.47 โดยช่วงที่ 1 จะรับสมัครทุนทั้ง 3 ประเภท ส่วนช่วงที่ 2 รับเฉพาะทุน IPUS ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถดูรูปแบบการเขียนข้อเสนอโครงงานและเกณฑ์การประเมินเพื่อขอรับทุนได้จากคู่มือการขอรับทุน IRPUS หรือ download ได้จาก homepage ของโครงการที่ http://www.ipus.org/Handbook46/IRPUS.pdf นอกจากนี้ผู้สนใจสามารถเข้ารับฟังการบรรยายขั้นตอนขอรับทุนดังกล่าวได้ในวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2547 เวลา 13.00-17.00น. ณ ห้องประชุมจำรัส ฉายะพงษ์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ติดต่อเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2409-6040 หรืออีเมล์มาที่ ipus@kmutt.ac.th--จบ--
-รก-