คลื่นใหม่ของ FDI

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2011 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--บลจ.บัวหลวง เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ถือเป็นเงินลงทุนระยะยาวที่สร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากจะมาพร้อมความรู้และเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้และกระตุ้นการบริโภคไปถึงระดับรากหญ้าอีกด้วย เพราะเมื่อเกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้ไปยังผู้ใช้แรงงานในพื้นที่หรือคนในชุมชนนั้นๆ และกระตุ้นให้เกิดการบริโภคการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภคของประเทศโดยรวม นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งเกิดการพัฒนาในธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร และการแพทย์ รวมทั้งเกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาของชาวต่างชาติและการขยายของสังคมเมือง รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ในอนาคต เป็นต้น มูลค่าอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน : Board of Investment) ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 2.65 แสนล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่นับเป็นสัดส่วนถึง 66.25% ของเป้าหมายทั้งปี ตามที่ธปท.ได้ประมาณการไว้ที่ 4 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ (21%) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (10.8%) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capital Utilization) ทั้ง 2 กลุ่มอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 80% ซึ่งเป็นระดับที่ต้องเตรียมขยายกำลังการผลิตแล้ว และหากแยกดูเป็นรายประเทศ พบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงที่สุด (61%) รองลงมาเป็นสิงคโปร์ (15%) สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าสอดคล้องกับเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุน โดยสินค้าส่งออกหลักๆ คือ เครื่องจักร (12%) ยานยนต์ (8.1%) และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (6.8%) เป็นต้น และเป็นการส่งออกสินค้าไปกลุ่มอาเซียน เป็นสัดส่วนสูงสุดของมูลค่าการส่งออก (23%) รองลงมาเป็นจีน (11.4%) ยุโรป (10.9%) และญี่ปุ่น (10.8%) ตามลำดับ แนวโน้มการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบายชัดเจนในการลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ จึงเน้นการนำเข้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการแข่งค่าขึ้นของเงินเยน ส่งผลให้นักลงทุนในประเทศญี่ปุ่นเน้นขยายฐานการผลิตและส่งออกฐานผลิตจากต่างประเทศมากขึ้น เช่น Toyota, General Motor, Mitsubishi, Ford, Nissan เป็นต้น ขณะที่ Nestle มีแผนลงทุนอย่างต่อเนื่องในไทยอีก 2 ปีข้างหน้า มูลค่ากว่า 3.5 พันล้านบาท โดยเน้นไปที่การขยายโรงงานผลิต รวมถึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อควบคุมคุณภาพและให้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อกลยุทธ์ของเนสท์เล่ระดับโลก และจะรับซื้อกาแฟโดยตรงจากเกษตรกรชาวไทยกว่า 12,500 ราย ในพื้นที่ปลูกกาแฟหลักของไทย ซึ่งช่วยให้ผู้ปลูกกาแฟในเมืองไทยขายผลผลิตได้ในราคาที่ดี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประเทศจีนมีความสนใจลงทุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เป็นผลมาจากการที่ไทยมีฐานการผลิตที่ครบวงจร ปัญหาภัยธรรมชาติไม่รุนแรงมากเท่าประเทศอื่นๆ แรงงานมีฝีมือดีและค่าแรงยังไม่สูงมาก นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามามากขึ้น เช่น - สร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าโดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพ - การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ให้เหลือ 23% (อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมครม.และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ม.ค.2555) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากการเก็บภาษีของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ระดับ 17-18% - การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต - ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันกับภูมิภาค ซึ่งต้องสร้างการเชื่อมโยงตลอดซัพพลายเชนทั้งวัตถุดิบ เครื่องจักรกล การเพิ่มมูลค่าสินค้า - การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster) เช่น นิคมอุตสาหกรรมยางพาราที่ขั้นปลาย นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจจีนหรือเกาหลีใต้โดยเฉพาะ เป็นต้น นอกจากนี้ ผลจากความร่วมมือกันระหว่างประเทศ ทำให้เกิดข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการค้าและการลงทุนข้ามชาติมากยิ่งขึ้น เช่น การลดภาษีสินค้าปกติภายใต้กรอบอาเซียน (AFTA) เหลือ 0% การจัดทำข้อตกลง FTA ลดภาษีสินค้าระหว่างประเทศคู่ค้าต่างๆ และการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนตามเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 (ASEAN Economic Community : AEC) ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีฐานการผลิตและตลาดร่วมกัน โดยเป็นการเปิดเสรีทั้งด้านสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ รวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนที่เสรีมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี FDI จึงเป็นเหมือนแหล่งเงินทุนระยะยาวจากต่างประเทศ ที่ช่วยนำพาเทคโนโลยีความรู้ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีเพื่อใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาลต่อไปได้ ในแง่มุมมองการลงทุนของ บลจ.บัวหลวง ได้ให้ความสำคัญและเห็นถึงประโยชน์ของเงินลงทุนในรูปแบบ FDI รวมถึงการรองรับการจัดตั้ง AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมาก แนวทางการลงทุนของเราจึงเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก สิ่งเหล่านี้โดยเฉพาะ ซึ่งนักลงทุนโดยทั่วๆ ไป อาจจะยังไม่ทันได้ค้นพบถึงความน่าสนใจในการลงทุนธุรกิจเหล่านี้ เช่น การลงทุนในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการที่กลุ่ม AEC จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยจำนวนมาก กลุ่มคมนาคมขนส่งที่ได้ประโยชน์จากการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและการขยายตัวของการท่องเที่ยว กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคที่มีฐานการผลิตและตลาดสินค้ากระจายไปยังประเทศในแถบอาเซียน เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อว่า ภาคธุรกิจเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของ AEC และมีอัตราการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ