กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--โฟร์ พี แอดส์ (96)
การเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม เป็นมาตรการสำคัญและเป็นความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้มีสถานที่พักพิง ในยามที่สภาพบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ถึงแม้ขณะนี้ในหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายแล้ว และยังไม่พบการระบาดของโรคใดๆจากปัญหาน้ำท่วม แต่ สธ.ยังคงสั่งเดินหน้ามาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันควบคุมการเกิดโรคระบาดที่จะตามมาหลังน้ำลด ส่วนรายงานผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมล่าสุดยอดรวมสะสมกว่า 1 ล้าน 3 แสนราย
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม ในศูนย์พักพิงวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง วัดเทพนารีย่านบางพลัดว่าศูนย์พักพิงแห่งนี้เป็นศูนย์พักพิงขนาดกลางมีผู้อพยพอาศัยอยู่รวมกันประมาณ 700 คน ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่นอกจากจะเป็นเด็ก ผู้หญิง แล้วยังพบว่ามีผู้พิการ และคนชราอาศัยร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ปัญหาสุขภาพของชาวบ้านที่พบ นอกจากปัญหาน้ำกัดเท้า บาดแผลจากของมีคมบาด ชาวบ้านยังมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายเป็นไข้ ไอเรื้อรัง ตาแดง ซึ่งก็มีบ้างประปรายแต่ไม่พบการระบาดของโรคที่ร้ายแรง จึงได้มอบชุดยาและเวชภัณฑ์ป้องกันโรคเบื้องต้นที่กรมควบคุมโรคได้จัดทำขึ้นจำนวน 700 ชุด พร้อมทั้งมุ้งชุปยาป้องกันยุงที่ได้รับการบริจาคจากองค์การยูนิเซฟ ยาทากันยุง ยาทาน้ำกัดเท้า หน้ากากอนามัย ส้วมฉุกเฉิน และคู่มือประชาชนให้แก่ ผู้ป่วย ผู้พิการ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงแห่งนี้ไว้เพื่อใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น
ทั้งนี้พบว่าถึงแม้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและอยู่กันด้วยความยากลำบาก แต่ก็สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เข้าขั้นวิกฤตก็ยินยอมที่จะอพยพออกจากพื้นที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันในศูนย์พักพิงแห่งนี้ ทำให้ไม่เกิดปัญหาการตกค้างของชาวบ้านในพื้นที่น้ำท่วมซึ่งถือเป็นอุปสรรค์สำคัญต่อกระบวนการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ชาวบ้านยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดีและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แม้ในสถานการณ์ที่ลำบากชาวบ้านยังไม่ละเลยที่จะจัดงานบุญโดยได้รวมตัวกันจัดงานทอดกฐินขึ้นในวัดเทพนารีด้วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชุมชนแห่งนี้มีทั้งผู้นำชุมชนและผู้นำทางศาสนาที่มีความเข้มแข็ง จึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงความเข้มแข็งของชุมชนอีกแห่งหนึ่ง
รมว.สธ.ยังกล่าวต่ออีกว่าถึงแม้ในหลายพื้นที่ ขณะนี้น้ำได้ลดลงแล้ว และยังไม่พบว่ามีการระบาดของโรคที่ร้ายแรง แต่กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้ามาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันควบคุมการเกิดโรคระบาดที่จะตามมาหลังน้ำลด โดยให้กรมควบคุมโรคเข้าไปดูแลเน้นการป้องกันควบคุมโรคในระดับพื้นที่ จัดกิจกรรมให้ความรู้ผ่านโครงการต่างๆ ลงพื้นที่ ที่น้ำลดโดยด่วน เช่น กิจกรรมควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกฯลฯ
ด้านนพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเนื่องจากมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งที่อยู่ในจุดพักพิงและที่อยู่ในบ้าน ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำต่อไปอีกนานเป็นเดือน กรมควบคุมโรคจึงต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดอย่างเข้มงวด และได้พัฒนาชุดยาและเวชภัณฑ์ป้องกันโรคง่ายๆ เพื่อนำมาแจกให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วมไว้เพื่อใช้ดูแลสุขภาพตัวเองเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งชุดป้องกันโรคง่ายๆ ที่กรมควบคุมโรคได้จัดทำในครั้งนี้ประกอบด้วยเวชภัณฑ์และยาจำนวน 10 รายการ ได้แก่ 1.ครีมทารักษาโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา 1 หลอด 2.ครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้า 1 หลอด 3.ยาแก้แพ้ 10 เม็ด 4.ยาแก้ปวดลดไข้ 20 เม็ด 5.ผงน้ำตาลเกลือแร่ จำนวน 2 ซอง 6.พลาสเตอร์ปิดแผล 3 ชิ้น 7.หน้ากากอนามัย 5 ชิ้น 8.ถุงดำ 2 ใบ 9.ยาทากันยุงชนิดซอง 2 ซอง และ10.เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 1 หลอด เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคที่มือ กรณีที่ขาดแคลนน้ำสะอาดล้างมือ ซึ่งรายการเวชภัณฑ์ ยา ดังกล่าวนี้ใช้ได้ง่ายมาก เช่นกรณีที่มีสมาชิกในครัวเรือนเป็นไข้หวัด ก็สามารถดูแลให้กินยาลดไข้ และให้ผู้ที่ป่วยใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เอาเชื้อไข้หวัดไปติดคนอื่นได้ ขณะนี้ได้ผลิตแล้ว 50,000 ชุด เพื่อเร่งทยอยแจกผู้ประสบภัยให้ทั่วถึง และหากศูนย์พักพิงในพื้นที่ใด ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันโรค หรือมีข้อสงสัยเรื่องโรคและภัยสุขภาพสามารถติดต่อมาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรคโทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333 อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวปิดท้าย
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386