พื้นฐานครอบครัวที่ดี..มีความเข้มแข็ง...ย่อมทำให้สังคมสงบสุข

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 2004 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--แปลน พับลิชชิ่ง
หากพูดถึงสถาบันที่เล็กที่สุดก็คงไม่พ้นสถาบันครอบครัว และเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมที่จะออกไปสู่สังคมภายนอกอย่างมีคุณภาพ แต่ดูเหมือนว่าพ่อแม่ที่อยู่ในเมืองเท่านั้นที่ดูจะมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารในการดูแลเด็กและครอบครัว พ่อแม่ในชนบทส่วนมากยังไม่มีโอกาสเช่นเดียวกับพ่อแม่ในเมือง
ดังนั้น สถาบันครอบครัวรักลูก บริษัท แปลน พับลิชชิ่ง จำกัด อยากเห็นพ่อแม่ทุกครอบครัวในประเทศไทย ได้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องการดูแลครอบครัวและการเลี้ยงลูก จึงจัดโครงการ"สร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง" หรือเรียกโดยย่อว่า "โครงการครอบครัวเข้มแข็ง" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันครอบครัวรักลูก กล่าวว่า ภารกิจของโครงการนี้คือการจัดเวทีการเรียนรู้ในชุมชนต่างๆ ใน 8 จังหวัด ซึ่งจากการสำรวจเราได้พบเรื่องใหญ่ 4 ประเด็น ที่ทำให้เรามั่นใจว่าพ่อแม่ในจังหวัดต่างๆ มีความต้องการที่จะเรียนรู้ในเรื่องเด็กและครอบครัว เนื่องจากปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นนั้นมีมานานมากแล้วแต่ยังไม่มีใครเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง บวกกับครอบครัวในชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่าตายาย ท่านเหล่านั้นมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการเลี้ยงลูกอยู่เป็นทุนเดิม และคนในชุมชนต่างๆ มีความต้องการที่จะเรียนรู้ในเรื่องเด็กและครอบครัว และจากการสำรวจพบว่าในแต่ละพื้นที่มีประสบการณ์ที่สมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาถ่ายทอดให้แก่กันและกัน
ถ้าคนมีโอกาสที่จะเรียนรู้ มีข่าวสารข้อมูล มีการนำเสนอมุมมอง และเป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้วยตัวเอง เราเชื่อว่า พวกเขาเหล่านั้นจะเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กระบวนทรรศน์ได้ ซึ่งสิ่งนี้เราจะนำเนื้อหาสาระ ที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระจากคนในเมือง หรือจากตะวันตก แต่เป็นการเปิดเวทีแล้วให้พวกเขานำสาระจากทุกๆ ส่วนที่มีการ กลั่นกรองแล้ว คัดกรองมาแล้ว อาจจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของปู่ย่า ตายายในการเลี้ยงดูบุตรหลาน วัฒนธรรมในท้องถิ่นของแต่ละชุมชน และนำมารวมกับความรู้สากล เช่น พัฒนาการเด็ก จิตวิทยาทั้งหลาย แล้วนำมาเปิดเป็นเวทีให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อพวกเขาได้คิดและร่วมในกระบวนการที่กล่าวมาจะทำให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด เพราะถ้าเขาได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ หรือเปลี่ยนความคิดแล้วจะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนการเลี้ยงลูก ความสัมพันธ์ในครอบครัว และวิถีปฏิบัติในครอบครัวจะเกิดเปลี่ยนแปลงไป
ลักษณะการดำเนินงาน จะเป็นลักษณะการเปิดเวทีการเรียนรู้ ซึ่งเวทีการเรียนรู้นั้นจะมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชน เช่น อาจจะเป็นการจัดเป็นการเสวนาในหมู่บ้าน หรือชุมชนของตัวเอง ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี เป็นการเปิดเวทีในประเด็นต่างๆ ตามที่ชุมชนนั้นๆ สนใจหรือต้องการ เราพบว่าหลายชุมชนมีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือบางชุมชนมีปัญหาเรื่องค่านิยมการเข้ามาเรียนในตัวเมือง หรือบางชุมชนมีเรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะถูกหยิบขึ้นมาในเวทีนี้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องที่สำคัญที่สุดของทุกฝ่ายคือการร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้เป็นสัมมนาพัฒนา เพราะทิศทางการพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญและกระทบทุกคน-ทุกองค์กรทั้งหมด ซึ่งทิศทางการพัฒนานี้สามารถเป็นทั้งทางบวกและทางลบ หากทิศทางการพัฒนาเป็นมิจฉาพัฒนาก็จะส่งผลกระทบกับทุกส่วน ทำให้เราไม่สามารถตามแก้ไขได้ การที่ทุกคนนำเงินมาเป็นตัวตั้ง ในการนำมาพัฒนาประเทศ ผลเสียคือทำให้เกิดการทำลายครอบครัว บุคคล สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพราะที่ถูกต้องแล้วเราจะต้องใช้มนุษย์เป็นตัวตั้งจึงจะทำให้สังคมไม่ถูกทำลาย
ลักษณะของการพัฒนาที่ใช้มนุษย์เป็นตัวตั้งมี 5 ประการ ได้แก่
1. ต้องเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นของคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคนยากจน ซึ่งถือว่าเป็นหลักพื้นฐานที่สุด ถ้าขาดตัวนี้ไปจะเกิดปัญหาเรื่องราวต่างๆ มากมาย เราต้องให้ความเป็นธรรมกับคนทุกคนเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ดี มีการส่งเสริมให้มีสัมมาชีพกันในทุกพื้นที่ หมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม มีรายได้มากกว่ารายจ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถวัดผลได้
2. มีครอบครัวเข้มแข็ง ถ้าเอามนุษย์เป็นตัวตั้งครอบครัวจะเข้มแข็งเพราะทุกคนอยู่ในนี้
3. ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งสามารถจะแก้ปัญหาทุกชนิดหมดทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม สุขภาพและทุกๆอย่าง
4. สังคมน่าอยู่ ทุกคนมีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมดี และต้องวัดได้ด้วย
5. มีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจที่เอามนุษย์เป็นตัวตั้ง คือการที่ทุกคนอยู่อย่างพอมีพอกิน และมีไมตรีจิตต่อกัน ทั้ง 5 ข้อนี้มีเงินเคลื่อนไหวอยู่ด้วย แต่เงินไม่ใช่ตัวตั้ง กลับนำมาเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการพัฒนาชีวิตและในการอยู่ร่วมกัน
ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ เพราะว่าเป็นสถาบันของทุกคน มีความผูกพันกันและเป็นที่ที่ให้ความสุขแก่มนุษย์มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่สำคัญของความสุขมนุษย์ และคุณค่าของครอบครัวนั้นจะไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่การกระทำและจิตใจ หากครอบครัวเข้มแข็งความอยู่รอดในสังคมก็จะมีสูงขึ้น การที่ครอบครัวจะเข้มแข็งหรือไม่นั้นจะต้องมีดัชนีชี้วัด ซึ่งได้แก่ มีความเป็นบึกแผ่น มีเศรษฐกิจพอเพียง มีสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยดี และที่สำคัญคือพ่อแม่เลี้ยงลูกเป็น หมายความว่าสามารถเลี้ยงลูกจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาด และเป็นคนดี และยังเป็นการเรียนรู้ของพ่อแม่เพื่อนำมาพัฒนาตนเองด้วย
ในเรื่องของการพัฒนาครอบครัวนั้น มีปัจจัยที่จะช่วยในการพัฒนา 10 ประการ ได้แก่
1. เศรษฐกิจ ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวเข้มแข็งไม่ใช่ทำลายให้อ่อนแอลง
2. การศึกษาต้องส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็ง ไม่ใช่เป็นตัวทำลายครอบครัว
3. ธุรกิจ จะต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว และการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวในกิจกรรมที่ธุรกิจนั้นๆได้จัดขึ้นต่อสังคม
4. การสื่อสารทุกชนิดต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว
5. ชุมชนเข้มแข็ง คือถ้าครอบครัวเข้มแข็งชุมชนก็จะเข้มแข็งด้วย นอกจากนั้นในชุมชนจะต้องมีพื้นที่เป็นของชุมชน เพื่อใช้เป็นสถานที่เล่นของเด็ก มีตลาดนัดให้พ่อแม่ลูกมาทำกิจกรรมร่วมกัน
6. การบันเทิง พักผ่อนหย่อนใจ ต้องมีลักษณะไปเป็นแบบครอบครัว
7. การเรียนรู้ของครอบครัว เช่น การส่งเสริมให้มีหนังสือฟรีเพื่อให้เด็กได้อ่าน เป็นต้น
8. ระบบสวัสดิการสังคม ทุกจังหวัดจะต้องมี เนื่องจากเด็กที่เกิดมาจากครอบครัวที่ยากจน ทำให้เขาขาดโอกาสในด้านต่างๆ เช่น ไม่ได้อ่านหนังสือ ขาดอาหารและความรัก เพราะเด็กทุกคนเป็นสมบัติของประเทศชาติ ถ้าเขาเกิดมาพิการทำให้เขากลายเป็นภาระและทำลายสังคมด้วย
9. ควรมีอาสาสมัครเพื่อสังคม หมายความว่า ให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ สามารถใช้เวลาว่างโดยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจน เพราะสังคมทุกวันนี้มีลักษณะตัวใครตัวมัน ดังนั้นหน้าที่ของอาสาสมัครคือเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในชุมชน และสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย
10. สุดท้ายจะต้องมีการวิจัยเพื่อความเข้มแข็งของครอบครัว
โครงการครอบครัวเข้มแข็ง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เป็นภาคีร่วมกัน เพราะโครงการนี้ไม่ใช่โครงการของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน ทุกคนร่วมกันเป็นภาคี ในการเคลื่อนตัวไปเพื่อครอบครัวที่เข้มแข็ง เพื่อชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ผู้คนมีความร่วมเย็นเป็นสุข และในอนาคตประเทศไทยก็จะไม่เหมือนเดิม
พ่อสุขี ซองศิริ แกนนำด้านการพัฒนาครอบครัวจากจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงปัญหาในชุมชนของตนว่า ปัญหาที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์จะขอหยิบยกปัญหาของชุมชนในชนบท ได้แก่ ปัญหาเรื่องประชาชนในวัยแรงงาน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เข้าสู่วัยแรงงาน จะอพยพออกจากพื้นที่เข้าไปหางานทำในจังหวัดอื่นๆ แต่การอพยพนี้ไม่ได้เป็นเพราะความยากจนทั่วไป แต่กลายเป็นการออกไปตามประเพณี คือเมื่อถึงเวลาก็จะต้องออกไปหางานทำ ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องอพยพไปเลย อาชีพในชุมชนก็มีให้ทำมากมาย กลุ่มที่อพยพออกไปส่วนใหญ่นั้น ได้แก่ กลุ่มสามีหรือภรรยา หมายความว่า สามีออกไปทำงาน ก็ให้ภรรยาอยู่กับลูกตามลำพัง หรือสามีภรรยาไปทั้งคู่ให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะเป็นความเหินห่างระหว่างคนในครอบครัว เกิดช่องว่างระหว่างพ่อแม่ลูก ส่งผลให้ชุมชนในชนบทเกิดปัญหาตามมาด้วย ปัญหาของชุมชนเมือง ได้แก่ ปัญหาวัยรุ่น ที่ชอบเที่ยวสถานบันเทิงในตอนกลางคืน และกลายเป็นค่านิยมในกลุ่มวัยรุ่นในเมืองและระบาดสู่ชุมชนในชนบทเพิ่มขึ้นทุกวัน ปัญหาการทะเลาะวิวาท รวมทั้งปัญหายาเสพติดด้วย
อาจารย์บุญชาติ อุดมรัตนสกุล แกนนำด้านการพัฒนาครอบครัวจากจังหวัดพะเยา กล่าวว่าปัญหาในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือปัญหาด้านครอบครัว ที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ตื่นแต่เช้าขึ้นมาก้าวไปข้างหน้าเพื่อทำงานแข่งกับเวลา ไม่มีเวลาให้กับคนในครอบครัว มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมทั้งความเป็นอยู่ของคนก็หลงเทคโนโลยีมากจนเกินไป เพราะรับเอาเทคโนโลยีเข้ามามากเพียงเพราะคิดว่ามันสะดวก สบาย แต่ไร้ความสุขที่แท้จริง และปัญหาวัยรุ่นที่มี คือ พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะสอนลูก ลูกจึงขาดการอบรมที่ดีจากพ่อแม่ สมัยก่อนพ่อแม่จะอบรมและสั่งสอนลูกอย่างดี แต่สมัยนี้พ่อแม่ไม่สามารถสั่งสอนลูกของตนเองได้ ซึ่งเด็กที่ก่อปัญหาในปัจจุบันนี้ล้วนเป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาทั้งนั้น
พ่อน้อม ฮันเย็ก แกนนำด้านการพัฒนาครอบครัวจากจังหวัดตรัง กล่าวถึงปัญหาในจังหวัดของตนคือเรื่อง เยาวชนวัยรุ่นชอบเที่ยวสถานบันเทิง ติดยาเสพติดและดื่มเหล้า ก่อปัญหาทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเกิดจากพ่อแม่แตกแยกกัน ทำให้เด็กมีปัญหา ขาดความอบอุ่น การเรียนก็ไม่สนใจ พ่อแม่ยังไม่เข้าใจในการดูแลเอาใจใส่ลูก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท แปลน พับลิชชิ่ง จำกัด
โสภิดา ธนสุนทรกูร (แบม)
ฐาปณีย์ ณ สงขลา (เมธ์) จารุวรรณ ผ่องภัคดี (ปุ๊ก)
โทร.0 2911 4211 ต่อ 245 ,330, 409 โทรสาร. 0 2911 4291--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ