กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม
บอร์ดบีโอไอประชุมนัดแรกไฟเขียวมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) นัดแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ มาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งได้แก่ 1. การอนุญาตให้วัตถุดิบที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ที่ได้รับความเสียหายและไม่มีเศษซากเหลืออยู่ ให้นับเป็นส่วนสูญเสียที่ไม่ต้องชำระภาษีอากร 2. การอนุญาตให้นำวัตถุดิบที่นำเข้าไปว่าจ้างผู้อื่นผลิตทุกขั้นตอนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ยังคงรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ และ 3. การขยายเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทดแทนเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ออกไปอีก 6 เดือน
ก่อนหน้านี้ บีโอไอได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไปแล้วหลายประการ ได้แก่ 1.การอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมสามารถย้ายเครื่องจักรหรือวัตถุดิบไปไว้นอกโรงงานได้ในกรณีฉุกเฉิน 2. วัตถุดิบที่นำเข้าเพื่อใช้ผลิตสินค้าส่งออก หากวัตถุดิบเสียหาย บีโอไอจะตัดบัญชีวัตถุดิบเป็นส่วนสูญเสีย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไม่มีภาระภาษี ส่วนวัตถุดิบที่ยังใช้งานได้ บีโอไอก็อนุญาตให้นำไปใช้ในโครงการอื่นที่ยังสามารถดำเนินการผลิตได้ โดยที่ยังคงได้รับยกเว้นอากรนำเข้าเหมือนเดิม
3. สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่น ผลิตสินค้าให้ในบางขั้นตอนเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า บีโอไอก็ผ่อนผันให้สามารถดำเนินการได้เช่นกันและ 4. มาตรการเร่งรัดการอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ชำนาญการต่างชาติ เพื่อให้สามารถเดินทางเข้ามาช่วยฟื้นฟูโครงการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้สะดวกมากขึ้น
นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุม ยังเห็นชอบให้มีการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนรายเดิมย้ายฐานการผลิต ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ โดยได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย” ขึ้น โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และบีโอไอ เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อทำแผนงาน งบประมาณ และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ และดำเนินกิจกรรม อาทิ การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไปยังกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการเชิงรุกและเป็นระบบ ผ่านสื่อชั้นนำของโลก การจัดคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางไปชี้แจงโดยตรงกับนักลงทุน รวมถึงการเดินหน้าจัดงานบีโอไอแฟร์ ในช่วงต้นปี 2555