กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 31 ต.ค. - 4 พ.ย. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.40 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 106.04 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.41 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 110.25 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.86 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 93.24 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยลดลง 4.65 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 116.52 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.03 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 125.98 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- Eurostat สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปรายงานอัตราการว่างงานของกลุ่มยูโรโซนในเดือน ก.ย. 54 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 10.2% และมีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 16.2 ล้านคน แตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- The Institute of Supply Management (ISM) ในสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของรัฐ Chicago ประจำเดือน ต.ค. 54 ปรับตัวลดลง 2.0 จุด จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 58.4 จุด และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 59.0 จุด
- Bloomberg News Survey รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในเดือน ต.ค. 54 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 30.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 2551 เนื่องจากปริมาณการผลิตจากประเทศลิเบียและแองโกลาเพิ่มขึ้น
- กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณผลิตน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. 54 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 10.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- บริษัท Shell ไนจีเรียยกเลิก Force majeure การส่งออกน้ำมันดิบ Forcados และกลับมาดำเนินการส่งออกภายหลังการซ่อมแซมระบบท่อขนส่งน้ำมันแล้วเสร็จ โดยมีแผนส่งออกน้ำมัน Forcados ในเดือน พ.ย. 54 ที่ระดับ 190,000 บาร์เรลต่อวัน
(ส่งออกโดยใช้เรือ 6 เที่ยวๆ ละ 950,000 บาร์เรลต่อวัน)
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3% สูงกว่าระดับเป้าหมายที่กำหนดให้ต่ำกว่า 2%
- นาย Evangelos Venizelos รัฐมนตรีการคลังของกรีซ ประกาศว่ากรีซจะไม่ใช้การลงประชามติในการตัดสินใจรับเงินช่วยเหลือ และการตัดสินใจในการคงสภาพสมาชิกในกลุ่มยูโร โดยการตัดสินใจจะใช้การโหวตในสภาแทน ทำให้วิกฤตหนี้ยุโรปคลายความกังวลลง และสร้างความมั่นใจของนักลงทุนเพิ่มขึ้น
- นาย Ben S. Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 2.5% อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ FED ยังคงใช้นโยบายเปลี่ยนการถือครองพันธบัตรจากระยะสั้นเป็นระยะยาว (Operation Twist) และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจนถึงกลางปี 2556 และประกาศพร้อมใช้นโยบายทางการเงินเพิ่มเติม อาทิ การซื้อหลักทรัพย์และหุ้นกู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน (Mortgaged-Back Asset)
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือน ต.ค. 54 เพิ่มขึ้น 80,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวลดลงจากเดิม 9.1% มาอยู่ที่ 9% ในเดือน ต.ค. 54 ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
ราคาน้ำมันมีความผันผวน โดยนักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นต่อทิศทางในการแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซ หลังนายกรัฐมนตรี มีนโยบายไม่ใช้การลงประชามติเพื่อตัดสินใจรับเงินช่วยเหลือจาก EU และได้รับเสียงข้างมากต่อญัตติไม่ไว้วางใจของรัฐสภา ทำให้สามารถสานต่อการจัดการเรื่องหนี้ต่อไป ขณะที่อิตาลีและสเปนยินยอมให้สหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตรวจสอบการปฏิรูปการคลังของประเทศ ประกอบกับตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค. 54 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9% อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ แสดงความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิการซื้อ Mortgaged-Back Asset อย่างไรก็ตามนักลงทุนปรับลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่าวิกฤตหนี้ยูโรโซนส่งผลเชิงลบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก หลัง MF Global บริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ประสบปัญหาการขาดทุนในธุรกิจตราสารหนี้ และยื่นขอล้มละลายตามมาตรา 11 ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ปรับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2554 และ 2555 จากเดิม 2.5% และ 2.8% ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.4% และ 2.7% ตามลำดับ ในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะปรับตัวอยู่ในกรอบ 90-97 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ที่ 106-114 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ทั้งนี้ควรติดตามดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงปริมาณสำรองน้ำมันเชิงพาณิชย์ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทร. 0 2537-1630
โทรสาร 0 2537-2171