กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดของบริษัทในฐานะผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ตลอดจนการใช้บริการธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และประโยชน์ที่ได้รับจากการสนับสนุนของบริษัทในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดต่างประเทศ รวมถึงการดำเนินงานในธุรกิจสื่อสารในภูมิภาค
อินโดจีนที่อ่อนตัวลง ตลอดจนแนวโน้มของธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ในตลาดสำคัญในต่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจดาวเทียมและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐ ทั้งนี้ ผลประกอบการในธุรกิจสื่อสารที่หดตัวลงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโดยรวมของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ รวมทั้งยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ อีกทั้งยังคาดหมายว่าบริษัทจะแก้ปัญหาทิศทางธุรกิจในธุรกิจสื่อสารได้ และไม่ทำให้กำไรโดยรวมของบริษัทลดลง ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากดาวเทียมไอพีสตาร์ใช้เวลาในการสร้างตลาดนานกว่าที่คาดเอาไว้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยคมซึ่งเดิมชื่อ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการการสื่อสารด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้าจำนวน 2 ดวง โดยเป็นดาวเทียมแบบทั่วไป 1 ดวง (ไทยคม 5) และดาวเทียมบรอดแบนด์ 1 ดวง (ไทยคม 4 หรือรู้จักในชื่อไอพีสตาร์) บริษัทยังจำหน่ายจานดาวเทียมและให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งลงทุนผ่าน Shenington Investments Pte Ltd. ใน Mfone Co., Ltd. (Mfone) และ Lao Telecommunications Co., Ltd. (LTC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านสื่อสารในประเทศกัมพูชาและลาว ตามลำดับด้วย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีรายได้จำนวน 3,432 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากดาวเทียมแบบทั่วไปในสัดส่วนประมาณ 34% ของรายได้รวม ในขณะที่ดาวเทียมไอพีสตาร์มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42% รายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจสื่อสารและอินเทอร์เน็ต ฐานลูกค้าในส่วนของบริการดาวเทียมทั่วไปของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนฐานลูกค้าบริการดาวเทียมไอพีสตาร์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า สถานะธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทไทยคมเป็นผลมาจากสถานะความเป็นผู้นำในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารดาวเทียมในประเทศ ส่วนความสามารถในการแข่งขันนั้นบริษัทได้รับแรงหนุนจากลักษณะของธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าได้ยากและต้องใช้เงินลงทุนสูง สถานะทางธุรกิจของธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไปได้รับแรงหนุนจากจำนวนช่องออกอากาศที่เพิ่มขึ้นซึ่งเติบโตเรื่อยมาจาก 283 ช่องในปี 2552 เป็น 380 ช่องในเดือนมิถุนายน 2554 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางธุรกิจในตลาดภายในประเทศและประเทศใกล้เคียงเอาไว้ได้ ธุรกิจดาวเทียมสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอพอสมควรเนื่องจากเป็นการดำเนินกิจการภายใต้สัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาว ทั้งนี้ สถานะอันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงการสนับสนุนด้านกลยุทธ์จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ที่กำลังขยายตัว รวมถึงโอกาสในการประกอบธุรกิจที่ดีของดาวเทียมไทยคม 6 ซึ่งเป็นดาวเทียมแบบทั่วไปดวงใหม่บริษัทได้อนุมัติการลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม 6 เมื่อกลางปี 2554 ซึ่งคาดว่าดาวเทียมไทยคม 6 จะถูกปล่อยสู่อวกาศในกลางปี 2556 ที่ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ดาวเทียมดวงนี้จะเพิ่มความจุของช่องรับส่งสัญญาณและเพิ่มขอบเขตพื้นที่ทางการตลาดให้แก่บริษัท
อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ในช่วงปี 2549-2552 มาจากการให้บริการในประเทศออสเตรเลียและประเทศไทยเป็นหลัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เปลี่ยนนโยบายการขายและการทำการตลาดของไอพีสตาร์โดยหันมาเน้นการขายช่องสัญญาณบรอดแบนด์จำนวนมากให้แก่บริษัทสื่อสารต่าง ๆ แทนการขายให้แก่ลูกค้ารายย่อยหลายราย การใช้ช่องสัญญาณบรอดแบนด์ไอพีสตาร์ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากการเริ่มให้บริการไอพีสตาร์อย่างเป็นทางการในตลาดญี่ปุ่นและอินเดีย ลูกค้าในตลาดทั้ง 2 แห่งนี้กลายเป็นผู้สร้างรายได้หลัก ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ทั้งนี้ คาดว่าผลการดำเนินการของไอพีสตาร์จะปรับตัวดียิ่งขึ้นเนื่องจาก NBN Co., Ltd. (NBN Co) ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการดาวเทียมสำหรับโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติของประเทศออสเตรเลียได้เซ็นสัญญาซื้อช่องสัญญาณบรอดแบนด์ของไอพีสตาร์โดยมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2554 บริษัทลูกของ Malaysia East Asia Satellite (MEASAT) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจดาวเทียมของมาเลเซียได้ลงนามในสัญญาซื้อช่องสัญญาณ
บรอดแบนด์ของไอพีสตาร์จำนวนมากเพื่อเพิ่มความจุของช่องสัญญาณบรอดแบนด์ในประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม อนาคตของดาวเทียมไอพีสตาร์ยังมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของรายได้และระยะเวลาในการรับรู้รายได้จากตลาดในประเทศจีนอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทได้จัดสรรความจุของช่องสัญญาณไอพีสตาร์สำหรับประเทศจีนเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงเผชิญกับความท้าทายอย่างมากที่จะพิสูจน์ความสามารถในการเปิดให้บริการในตลาดจีน โดยความสำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถของพันธมิตรธุรกิจที่จะสร้างประสิทธิภาพทั้งในการผลิตและกระจายสินค้า พร้อมทั้งนำเสนอสู่ตลาดท้องถิ่น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ซึ่งกระทบต่อพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทยนั้นก็ได้ท่วมรอบพื้นที่ศูนย์กลางการให้บริการของบริษัทไทยคมในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทได้สร้างคันดินความสูง 2 เมตรป้องกันเสาสัญญาณในอาคารสำนักงานและรอบห้องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมทั้งวางถุงทรายเพิ่มด้วยความ สูงอีก 1 เมตรเพื่อป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเอาไว้แล้ว ภายใต้แผนเพื่อให้ธุรกิจดำเนินอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังได้เตรียมสถานที่สำรองเพื่อใช้เป็นสถานีควบคุมการทำงานของดาวเทียมภาคพื้นดินและให้บริการกระจายเสียงและแพร่ภาพในกรณีที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมขั้นร้ายแรงที่สุดเอาไว้ด้วย ด้วยมาตรการดังกล่าว ปัจจุบันบริษัทยังคงสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่โดยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่มากนัก
สำหรับธุรกิจสื่อสารนั้น ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทไทยคมเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดภูมิภาคอินโดจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยคู่แข่งใช้วิธีการตัดราคาเพื่อเพิ่มจำนวนผู้รับบริการ แม้ว่าผู้รับบริการของ LTC จะลดลงในครึ่งแรกของปี 2554
แต่ LTC ยังคงครองตลาดสื่อสารในประเทศลาวด้วยส่วนแบ่งตลาด 48.5% จากจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด ในทางตรงกันข้าม Mfone สูญเสียจำนวนผู้รับบริการและความสามารถในการแข่งขันลงไป โดยรายได้ของ Mfone ทรุดตัวลง และมีผลขาดทุน ทั้งนี้ ผลประกอบการและอัตราการทำกำไรในธุรกิจสื่อสารที่แย่ลงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโดยรวมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาทิศทางธุรกิจของ Mfone และ LTC ให้ได้เพื่อที่จะรักษาสมดุลการเติบโตของบริษัทเอาไว้
ฐานะการเงินของบริษัทสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ตลอดจนภาระหนี้ในระดับปานกลาง และสภาพคล่องในระดับที่รับได้ อัตราส่วนกำไรของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 34%-37% ในช่วงปี 2549-2552 และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 29.5% ในปี 2553 จากสาเหตุหลักคือการดำเนินงานในธุรกิจโทรศัพท์ที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 35.8% ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจการให้บริการดาวเทียมแบบทั่วไปที่เติบโตดีและธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าอัตรากำไรจะสูงขึ้นเมื่อมีการขายช่องสัญญาณไอพีสตาร์เพิ่มขึ้น เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 1,500-2,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และอยู่ที่ 954 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ระหว่าง 18%-20% ในปี 2552-2553 และอยู่ที่ระดับ 10.6% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ณ ปลายเดือนมิถุนายน 2554 ระดับภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยวัดจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่เพิ่มขึ้นจาก 36.6% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 38.5% ณ ปลายเดือนมิถุนายน 2554 เมื่อพิจารณาถึงการลงทุนในดาวเทียมไทยคม 6 แล้วคาดว่าระดับภาระหนี้สินของบริษัทจะไม่ลดลงในช่วงระยะปานกลาง โดยโครงการนี้มีต้นทุนการลงทุนโดยรวมประมาณ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
THCOM12NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ BBB+
THCOM14NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)