กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--I AM PR
“แม่น้ำตรัง”นอกจากจะเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในจังหวัดตรังแล้ว ยังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่สองฝากฝั่งของล้ำน้ำที่มีความยาวกว่า 195 กิโลเมตร เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะประกอบไปด้วยป่าไม้ พรรณพืช และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ถึง 3 น้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม
แม่น้ำตรังจึงมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต อาชีพ และเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนมากตลอดลำน้ำ แต่ปัจจุบันแม่น้ำตรังกำลังประสบปัญหาลำคลองตื้นเขิน ลำน้ำเปลี่ยนทางกัดเซาะตลิ่งและที่ทำกินของชาวบ้านจากปัญหาการดูดทราย ปัญหาการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบทำประมงอย่างผิดกฎหมายฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้หล่อเลี้ยงชีวิต
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น “เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง” ที่ประกอบด้วยเครือข่ายจากชุมชนในพื้นที่ ตำบลวังมะปราง ตำบลท่าสะบ้า ตำบลหนองตรุด ตำบลบางหมาก ตำบลทับเที่ยง ตำบลย่านซื่อ และตำบลบางเป้า ซึ่งมีอาณาเขตพื้นที่ครอบคลุมแม่น้ำตรังตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อนไหลออกสู่ทะเลอันดามัน จึงได้จัดทำโครงการ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง” ขึ้นเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติตลอดลำน้ำตรัง เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
นายรอเก็ก หัดเหม หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังประกอบไปด้วย 13 เครือข่ายองค์กรชุมชนที่มาร่วมกันทำงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือสร้างความสามัคคีระหว่างสมาชิกในแต่ละชุมชน และขยายผลความร่วมมือระหว่างชุมชนกับชุมชนอื่นๆ ในการปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติตลอดลำน้ำของแม่น้ำตรังร่วมกัน
“ปัญหาที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำตรังที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ถือว่าเป็นประเด็นหลักในขณะนี้ก็คือ เรื่องการปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำตรังตอนกลางและตอนล่างซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงผลก็มีผลกระทบชัดเจนเพราะน้ำเสียทำให้สัตว์น้ำหายไปไม่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่พอเกิดกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยกันดูแล กุ้งหอยปูปลาต่างๆ ก็เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ส่วนลุ่มน้ำตรังตอนกลางค่อนขึ้นไปตอนบนก็จะมีปัญหาในเรื่องของการดูดทราย ที่ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางน้ำกัดเซาะตลิ่งทำให้ตลิ่งพังที่ทำกินของชาวบ้านหายไป” นายรอเก็กระบุ
ชาวตำบลบางหมาก ซึ่งอยู่ในช่วงตอนกลางค่อนไปยังตอนล่างของลำน้ำตรัง มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำตรังอย่างแยกไม่ออก เพราะมี “ป่าต้นจาก” ผืนมหึมาตลอดสองฝั่งลำน้ำให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพสร้างรายได้จากการแปรรูปผลผลิตจากต้นจาก อาทิ น้ำตาลจาก, ตับจากสำหรับมุงหลังคา, ลูกจากเชื่อมฯลฯ และชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงหากคุณภาพของแม่น้ำตรังมีการปนเปื้อนของสารเคมี ทุกสัปดาห์แกนนำชาวบ้านจะพายเรือออกไปกลางแม่น้ำเพื่อตรวจวัดคุณภาพของน้ำในขณะนั้นว่ามีสภาพเป็นอย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันกับช่วงที่ผ่านมา
นายดน หมาดเด็น อายุ 58 ปีแกนนำชาวบ้านจากตำบลบางหมากกล่าวว่าปัญหาหลักของชุมชนที่ตั้งอยู่ตอนกลางไปจนถึงปลายน้ำก็คือเรื่องของน้ำเน่าเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และในอดีตยังมีปัญหาเรื่องของการจับสัตว์น้ำอย่างผิดวิธีด้วยการเบื่อปลาทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
“แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มเฝ้าระวังและทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบปัญหาเรื่องการเบื่อปลาก็หมดไป เหลือแต่เรื่องน้ำเสียที่ทำให้ปลาตาย ที่ทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงขาดรายได้” นายดลระบุ
ซึ่งปัญหาน้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทางเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทันทีที่พบว่าคุณภาพของน้ำลดต่ำลงและมีการปนเปื้อนของสารเคมี ก็จะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบกับโรงงานที่อยู่กับแหล่งน้ำที่ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำ เพื่อแจ้งให้ทางโรงงานหยุดปล่อยน้ำเสีย ซึ่งก็มักจะได้ผลเป็นครั้งคราวเท่านั้น
“ปัญหาน้ำเน่าเสียยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทางกลุ่มไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง บางโรงงานเมื่อเราแจ้งไปก็หยุด แต่พอเผลอก็แอบปล่อยน้ำเสียออกมาอีก ซึ่งเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นจะต้องเป็นการคุยกันในเวทีระดับจังหวัด อยากให้ท่านผู้ว่าฯ มาเป็นประธาน โดยให้ทุกฝ่ายและเครือข่ายของเราได้ร่วมกันพูดคุยหาทางออก ซึ่งชุมชนต่างๆ ตลอดลำน้ำตรังมีตอนนี้มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันก็คือ จะต้องขับเคลื่อนการทำงานและหาหนทางการป้องกันการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำตรังให้ประสบความสำเร็จ” นายประวิทย์ ผลิผล อายุ 51 ปี แกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังกล่าวเสริม
นายช่วย โปหลง อายุ 65 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์คลองลำพู เล่าให้ฟังว่าหลังจากที่ได้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังรักษาแม่น้ำตรังแล้ว ยังได้ต่อยอดการจนเกิดเป็น “กลุ่มอนุรักษ์คลองลำพู” ซึ่งเป็นลำคลองสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำตรังขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการดำเนินงานไปสู่เด็กและเยาวชนในชุมชนของตนเอง
“ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ร่วมกับทางเครือข่ายองค์กรชุมชนฯ จัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเยาวชน อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนของเราได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะการทำงานด้านการอนุรักษ์ ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีการส่งต่อการทำงานเป็นยังคนรุ่นต่อไป ซึ่งเยาวชนคนในพื้นที่ก็เป็นความหวังในการดูแลแม่น้ำตรังต่อไปในอนาคต” นายช่วยกล่าว
“เป้าหมายต่อไปของเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังก็คืออยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นตลอดลำน้ำสายนี้ โดยต้องการให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และองค์กรชุมชนฯ เข้ามาทำงานร่วมกัน เมื่อมีปัญหาก็จะได้ยื่นข้อเสนอไปในเวทีระดับจังหวัดเพื่อผลักดันให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนได้ เพราะชาวบ้านทุกคนตั้งใจทำงานมีจิตใจที่มุ่งมั่น หากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของพวกเรา ก็จะสามารถต่อยอดการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและสร้างความเข้มแข็งให้ทุกๆชุมชนได้ท้ายที่สุด” นายรอเก็ก หัดเหม ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังกล่าวสรุป.