กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สสวท.
การท่องเที่ยว คือการเรียนรู้ หากน้องๆ เยาวชนหรือผู้อ่านได้มีโอกาสไปเดินทางท่องเที่ยว อย่าลืมสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว ศึกษาจากแผ่นป้ายสื่อความหมาย หรือป้ายอธิบายข้อมูลความรู้ที่จัดแสดง ณ สถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ หากเกิดความสงสัย ก็เก็บไปคิด และค้นคว้าหาข้อมูลกันต่อไป
ดอยตุง อยู่เหนือจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 45 กิโลเมตร อยู่พื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย เมื่อก่อนเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่กลับคืนสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ตามแนวสมเด็จพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปลูกป่าแล้วเสร็จ ได้มีการสร้างพระตำหนักดอยตุง และมีโครงการอีกหลายๆ โครงการตามมาเพื่อสร้างอาชีพให้แก่คนในท้องถิ่น
วันนี้ ทีมนักวิชาการของ สาขาชีววิทยา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เป็นวทยากรพาเราไปเรียนรู้ที่ดอยตุง ซึ่งแหล่งเรียนรู้บนดอยตุงที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมได้แก่ สวนแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุง พระธาตุดอยตุง สวนรุกขชาติ
แม่ฟ้าหลวงดอยช้างมูบ ซึ่งมีพรรณไม้นานาชนิดให้เราได้สังเกตและเรียนรู้กัน
ไลเคน คืออะไร ?
หากเราสังเกตต้นไม้บางต้น จะเห็นแผ่นสีเขียวๆ ที่เกาะติดบนต้นไม้ เรียกว่าไลเคน ( lichen)เป็นสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ซึ่งได้แก่ เห็ดราและสาหร่าย โดยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เห็ดราจะได้ความชื้นและก๊าซออกซิเจนจากสาหร่าย และสาหร่ายก็จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงจากเห็ดรา
ไลเคนมีหลายแบบ ทั้งที่เป็นแผ่นบางๆ เกาะติดเปลือกไม้แน่น เป็นแผ่นเหมือนใบไม้ และเป็นเส้นๆ เหมือนพุ่มไม้เล็กๆ ที่เรียกว่าฝอยลม นอกจากนี้ไลเคนยังสามารถใช้เป็นดัชนีวัดมลพิษทางอากาศได้ เราจะพบไลเคนในบริเวณที่มีอากาศดีเท่านั้น จึงไม่ค่อยไลเคนในเมืองที่มีมลพิษ
ใต้ใบเฟิร์นมีอะไร ?
ผู้อ่านเคยสังเกตหรือไม่ว่าผงสีน้ำตาลที่อยู่ใต้ใบเฟิร์นคืออะไร ? ผงสีน้ำตาลที่เห็นนี่ก็คือสปอร์ของเฟินค่ะ เราจะพบสปอร์จำนวนมาก อยู่ภายในอับสปอร์บริเวณใต้ใบ และเรียงเป็นรูปร่างต่างๆขึ้นกับชนิดของเฟิร์น เช่น เป็นรูปกลม รูปรี รูปยาวเป็นเส้น เมื่อสปอร์แก่ สปอร์จะค่อยๆ หลุดร่วงและปลิวออกไปเพื่องอกเป็นต้นใหม่
ดอกหรือใบกันแน่ ?
สีสันสวยงามของต้นคริสต์มาสที่เห็นนั้นเป็นไม่ใช่ส่วนของดอก แต่เป็นส่วนของใบที่เรียกว่าใบประดับ ซึ่งใบประดับ ก็คือ ใบที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษ เช่น มีสีสันสวยงามคล้ายดอก เพื่อดึงดูดแมลง พบในพืชหลายชนิด เช่น ใบของต้นคริสต์มาส เฟื่องฟ้า หน้าวัว เหลืองคีรีบูน เป็นต้น
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชคืออะไร ?
โครงการพัฒนาดอยตุงอันนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พันธุ์ไม้ ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นการนำเอาชิ้นส่วนของพืช เช่น ยอด ลำต้น ใบ ราก ส่วนต่างๆของดอกหรือผล มาเลี้ยงในหลอดหรือขวดอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อโดยควบคุมอุณหภูมิความชื้น และแสงสว่างให้เหมาะสม ซึ่งชิ้นส่วนของพืชที่นำมาเลี้ยงเหล่านี้จะเจริญเติบโตไปเป็นรากและต้นต่อไป การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะสามารถขยายพันธุ์พืชได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันนิยมใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชกับพืชจำพวกกล้วยไม้ คาร์เนชัน บอนสี และข้าว เป็นต้น
การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ คืออะไร ?
การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ ( Hydroponics) คือ การปลูกพืชในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ ทดแทนการปลูกพืชในดินแบบที่เราใช้ในการปลูกพืชทั่วไป โดยภาชนะที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นกระบะเจาะเป็นช่องๆ สำหรับวางต้นกล้าให้รากลงไปแช่ในสารละลายธาตุอาหารพืช
การปลูกพืชนิดนี้มีข้อดี ก็คือ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว และให้ผลผลิตสูง เนื่องจากพืชได้รับธาตุอาหารต่างๆ ครบถ้วน ลดความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่แน่นอน ใช้พื้นที่ในการปลูกน้อยกว่าปลูกในดิน แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ลงทุนสูงในระยะแรก
ทำไมเวลาอากาศเย็นเล็บจึงเป็นสีม่วง ?
สาเหตุที่เล็บมักจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงๆ เวลาอาการเย็นมากๆ เพราะร่างกายต้องการรักษาอุณหภูมิให้คงที่ หลอดเลือดฝอยบริเวณปลายนิ้วจึงหดตัว เพื่อลดการระบายความร้อนออกจากร่างกาย การหดตัวของหลอดเลือดฝอย ทำให้การไหลเวียนของเลือดเกิดขึ้นได้น้อยลง บริเวณปลายนิ้วได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงทำให้เล็บกลายเป็นสีม่วงๆ นั่นเอง
ทำไมการอบแห้งจึงช่วยถนอมอาหารได้ ?
ผลไม้แบบอบแห้งสามารถเก็บไว้รับประทานทานได้นานกว่าผลไม้สด เพราะการอบแห้งเป็นการดึงน้ำออกจากอาหาร เมื่อมีน้ำในอาหารน้อยจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ทำให้อาหารเน่าเสียจะเจริญได้ไม่ดีอาหารที่อบแห้งจึงเน่าเสียช้าลง
เกร็ดความรู้ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของรายการพลังคิด ของ สสวท. ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์เผยแพร่ความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจทั่วไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ทุกเย็นวันพฤหัสบดี เวลาหลังเคารพธงชาติ หรือสามารถชมย้อนหลังบางส่วนได้ที่เว็บไซต์ http://www.scimath.org/tvprogram