กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
การค้าไทย-เอเปคฉลุยกว่า 2.4 แสนล้าน รองนายกฯ "กิตติรัตน์" นำทีมใช้เวทีเอเปก 11-13 พ.ย.นี้ แจงทั่วโลกถึงแผนฝ่าวิกฤตน้ำ ทูตพาณิชย์เชื่อญี่ปุ่นไม่ยอมตกขบวนเข้า “ทีพีพี”สร้างแต้มต่อการค้า พร้อมแผนรับมือภาคเกษตร
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก( AsiaPacific Economic Cooperation)เป็นหนึ่งในกลุ่มที่นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ให้ความสำคัญ โดยการค้าระหว่างประเทศไทยกับเอเปคในช่วง 9 เดือนแรก(มกราคม-กันยายน 2554)ว่า มีมูลค่ารวม 242,973 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกประมาณ 124,149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 26 % และสินค้านำเข้าคิดเป็นมูลค่า118,824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 27%
สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 11,412 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.01% ยางพารา 8,531 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 92 % รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 8,304 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.4% แผงวงจรไฟฟ้า5,684 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.3% น้ำมันสำเร็จรูป 5,408 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 38 %
เม็ดพลาสติก 5,012 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 53% ผลิตภัณฑ์ยาง4,496 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35.7% เคมีภัณฑ์ 4,445 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 47.3% อัญมณีและเครื่องประดับ4,290 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7% และหนังสือและสิ่งพิมพ์ 3,594 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 192% ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ข้าว เป็นต้น
สำหรับสินค้าสำคัญได้แก่ เครื่องจักกลและส่วนประกอบ 12,153 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 23% เหล็ก เหล็กกลางและผลิตภัณฑ์ 9,217 ล้านหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 30% เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 9,005 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14% เคมีภัณฑ์ 8,854ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 24 %แผงวงจรไฟฟ้า 7,410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.6 % เป็นต้น
ในการประชุมเอเปค ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 11-13 พฤศจิกายนนี้ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกานั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เดินทางไปประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปก วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ พร้อมทั้งเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ ระหว่าง 11-13 พฤศจิกายนนี้ด้วย โดยไทยจะอาศัยเวทีเอเปกครั้งนี้ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ ภายหลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างประเทศ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว รายงานว่า การสร้างพันธมิตรการค้าด้วยการรวมกลุ่มเขตการค้าเสรีถือว่าเป็นการสร้างแต้มต่อของการขยายตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ญี่ปุ่นได้ประโยชน์อย่างมากจากระบบการค้าเสรี แต่ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศสูง การเข้าร่วมเจรจาเขตการค้าเสรี จึงคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งญี่ปุ่นรู้สึกว่า กำลังต้องสูญเสียอำนาจการแข่งขัน โดยเฉพาะความตกลงภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Trade Agreement) หรือ ทีพีพี ที่ญี่ปุ่นต้องตัดสินใจเข้าร่วม ซึ่งคาดว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะประกาศเข้าร่วมเจรจาทีพีพีในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ผ่านเวทีการหารือทวิภาคีกับสิงคโปร์ ที่ฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมผู้นำเอเปค
“รัฐบาลญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า ในภาวะที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว การเข้าร่วมทีพีพีจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ จีดีพีของประเทศได้อีก 0.54% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.7 ล้านล้านเยนในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่มาจากการส่งออกไปสหรัฐฯที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่หากญี่ปุ่นไม่เข้าร่วม ก็อาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลกไปถึง 1.53% และแรงงานจำนวนกว่า 8 แสนคน อาจต้องตกงาน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง เพราะเชื่อว่า ทีพีพีจะทำให้ผลผลิตเกษตรของญี่ปุ่นสูญเสียอำนาจการแข่งขัน มูลค่าผลผลิตเกษตรในมูลค่าจีดีพีรวม จะลดลง 7.9 ล้านล้านเยน ยิ่งกว่านั้นจะทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (Food Self-sufficient) อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวรัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่างกรอบนโยบายและแผนปฏิบัติการสร้างความแข็งแกร่งในภาคเกษตร และส่งเสริมการผลิตใน ฟาร์มขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มรายได้ของครัวเรือนเกษตร และการจัดหาแหล่งเงินเพื่อการลงทุนในภาคเกษตร ไว้แล้ว”
อนึ่ง กลุ่มประเทศที่ตกลงเข้าร่วมแผนริเริ่มข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพีแล้ว ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยหลักการสำคัญของข้อตกลง คือ อัตราภาษีศุลกากรภายในเขตความร่วมมือ ถูกยกเลิกทั้งหมด กลุ่มอุตสาห กรรมของญี่ปุ่นกระตุ้นรัฐบาลให้เข้าร่วมทีพีพี ในส่วนของไทย ซึ่งมีเวียดนาม สิงคโปร์ เข้าร่วมก่อน หากไทยเข้าร่วมในภายหลัง ต้องยอมทำข้อตกลงที่ทีพีพีได้ทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว หากไทยเข้าสู่การเจรจาหลังจากนี้ก็จะต้องยอมรับสิ่งที่ 9 ประเทศตกลงกันไปแล้ว และยังต้องให้ข้อแลกเปลี่ยนในฐานะที่เข้าร่วมการเจรจาทีหลังก็ต้องรอว่ารัฐบาลจะมี นโยบายอย่างไร
สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34