กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--4 P ADs
ชื่อโครงการ ประกวดเรียงความในวาระครบรอบ ๑๐ ปี TO BE NUMBER ONE
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
หลักการและเหตุผล
โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (TO BE NUMBER ONE) ในทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นโครงการที่ดำเนินงานด้านการป้องกันปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงจิตวิทยาวัยรุ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติที่ ๑ คือ การปลุกพลังแผ่นดินและการป้องกันปัญหายาเสพติด ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ของโครงการ ๓ ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การรณรงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกและสร้างกระแสนิยมที่เอื้อต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แนวคิดการสร้างกระแส“เป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด” โดยผ่านสื่อและการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อให้วัยรุ่นและเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรม เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเอง
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตให้กับเยาวชนในชุมชน โดยการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตให้แก่เยาวชน การอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะการจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตให้กับเยาวชน การสนับสนุนให้แกนนำเยาวชนที่ผ่านการอบรมดำเนินการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตให้กับเยาวชน โดยการจัดตั้งศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น (TO BE NUMBER ONE FRIEND CORNER) ในชุมชนเมือง ชุมชนชนบท สถานศึกษา สถานประกอบการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และทัณฑสถาน กระทรวงยุติธรรม ภายใต้แนวคิด“ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างและพัฒนาเครือข่าย เน้นการสร้างและพัฒนาเครือข่ายสมาชิกให้มีศักยภาพ มีองค์ความรู้ และมีแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้การร่วมมือร่วมใจป้องกันปัญหายาเสพติด มีความต่อเนื่องและยั่งยืนในรูปแบบของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ และเอกชนในระดับประเทศและระดับพื้นที่
ในโอกาสที่โครงการ TO BE NUMBER ONE จะมีอายุ ครบ ๑๐ ปี ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ได้มีการวางแผนพัฒนารูปแบบ กิจกรรม ให้สอดคล้องกับความสนใจและธรรมชาติของวัยรุ่นและเยาวชน รวมทั้งขยายโอกาสการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายให้เพิ่มมาก รวมทั้ง ได้กำหนดให้มีกิจกรรมพิเศษเพื่อให้เหล่าสมาชิกและเครือข่ายที่มีอยู่กว่า ๓๘ ล้านคนทั่วประเทศ ได้ร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐ปี เพื่อถวายพระเกียรติแด่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี องค์ประธานโครงการ TO BE NUMBER ONE ที่ทรงอุทิศเวลาและพระวรกายทุ่มเททรงงาน TO BE NUMBER ONE ด้วยพระองค์เอง ด้วยความวิริยะอุตสาหะมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนครบ ๑๐ ปี
เพื่อให้เหล่าสมาชิกและเครือข่ายทั่วประเทศ ได้ร่วมภาคภูมิใจในความสำเร็จของโครงการ และร่วมรับรู้และเข้าถึงกิจกรรมอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ให้สมกับเป็นปีแห่งทศวรรษของโครงการ TO BE NUMBER ONE
ในปี ๒๕๕๕ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เลขานุการโครงการ TO BE NUMBER ONE จึงกำหนดให้จัดการประกวดเรียงความในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี TO BE NUMBER ONE หัวข้อ “สิ่งดีๆ ที่เรียกว่า TO BE NUMBER ONE” หรือ หัวข้อ “ครบรอบ ๑๐ ปี TO BE NUMBER ONE ”
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อสนับสนุนให้สมาชิก TO BE NUMBER ONE และประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้และเข้าใจ
การดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE ให้มากขึ้น
๒. เปิดโอกาสให้สมาชิก TO BE NUMBER ONE ถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจในการมีส่วนร่วม
ดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี
๓. เพื่อส่งเสริมความสามารถของสมาชิก TO BE NUMBER ONE ในด้านการเขียนเรียงความ โดยการรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเป็นบทความร้อยแก้ว และหรือผสมร้อยกรอง เพื่อสื่อสารกับสมาชิกอื่นๆ และประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบผลงานและความสำเร็จของโครงการ TO BE NUMBER ONE
ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าประกวด
สมาชิก TO BE NUMBER ONE ทั่วประเทศ แบ่งเป็น ๓ ประเภท
๑. ประเภทมัธยมศึกษา
๒. ประเภทอุดมศึกษา
๓. ประเภทประชาชนทั่วไป
กรอบเนื้อหา
หัวข้อที่ ๑ “สิ่งดีๆ ที่เรียกว่า TO BE NUMBER ONE”
- พัฒนาการโครงการฯ ที่มองเห็นและรับรู้ถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งกับตนเอง
และสังคมโดยรวม
- ความรู้สึกและสิ่งที่สัมผัสได้จากองค์ประธานโครงการฯ
- ความรู้สึกประทับใจต่อความสำเร็จของโครงการฯ
- ความฝันและความหวังกับโครงการฯ ในอนาคต
ฯลฯ
หัวข้อที่ ๒ “ครบ ๑๐ ปี TO BE NUMBER ONE”
- ภารกิจ TO BE NUMBER ONE ที่มองเห็นตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา
- ผลผลิต/ประโยชน์ ที่เกิดจากโครงการ TO BE NUMBER ONE ที่ผ่านมา
- จุดเด่น/ปัจจัยความสำเร็จของโครงการฯ ที่มองเห็น
- ก้าวต่อไปของโครงการฯ ที่ต้องการให้เป็น
ฯลฯ
เงื่อนไข ๑ คน เลือกเขียน ๑ หัวข้อ โดยอาจผสมผสานร่วมกันระหว่างกรอบเนื้อหาหัวข้อที่ ๑ และหัวข้อที่ ๒ ก็ได้
หลักเกณฑ์การส่งผลงานเข้าประกวด
๑. ผู้ส่งเรียงความเข้าประกวดต้องเป็นสมาชิก TO BE NUMBER ONE
๒. ส่งผลงานพร้อมแนบประวัติส่วนตัวโดยสังเขป, สถานที่ติดต่อกลับ, หมายเลขโทรศัพท์
และสำเนาบัตรประชาชน ๑ ชุด
๓. ผู้ส่งต้องเป็นผู้เขียนเรียงความด้วยตนเองนั้น ๑ คน ส่งได้ ๑ ผลงานเท่านั้น
๔. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเขียนเรียงความด้วยลายมือของตัวเอง เรียบร้อย อ่านง่าย หรือพิมพ์บนกระดาษ
A๔ ขนาดอักษร ๑๖ พอยท์ตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์มาตรฐาน ความยาวไม่ต่ำกว่า ๓ หน้ากระดาษ
แต่ไม่เกิน ๔ หน้ากระดาษ ไม่ต้องเว้นบรรทัด
๕. เรียงความที่ชนะการประกวดทุกสำนวนเป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักงานโครงการ TO BE NUMBER ONE
๖. การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด
๗. ส่งผลงานที่.....สำนักงานโครงการ TO BE NUNBER ONE กรมสุขภาพจิต ถนนติวานนท์
ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐ โทร. ๐-๒๕๙๐-๘๔๑๐, ๐-๒๕๙๐-๘๑๘๘ โทรสาร ๐-๒๑๔๙-๕๕๓๑
หลักเกณฑ์ในการตัดสิน
๑. เนื้อหา (Content) การวางโครงเรื่องสอดคล้องกับห้วข้อ ๓๐ คะแนน
๒. การจัดเรียงลำดับเรื่อง (Organizing) ๒๐ คะแนน
๓. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ๒๐ คะแนน
๔. การใช้ถ้อยคำ สำนวน และการใช้ภาษาสละสลวย ๓๐ คะแนน
ระยะเวลาดำเนินงาน
เปิดรับผลงาน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ถึง ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕
ประกาศผล วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยแจ้งผลให้ทราบตามสถานที่อยู่ที่แจ้ง
รับพระราชทานรางวัล วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ในงานมหกรรมครบรอบ ๑๐ ปี
TO BE NUMBER ONE ที่อิมแพค เมืองทองธานี
คณะกรรมการการตัดสิน ประกอบด้วย
๑. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต
๒. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต
๓. นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต
๔. ม.ล.ยุพดี ศิริวรรณ ที่ปรึกษาโครงการ TO BE NUMBER ONE
๕. คุณจีระนันท์ พิตรปรีชา
รางวัล
รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล ประเภทละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล
รางวัลรองชนะเลิศ ประเภทละ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล
รางวัลชมเชย ประเภทละ ๒ รางวัลๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
สมาชิก TO BE NUMBER ONE ทั่วประเทศให้ความสนใจและเข้าใจแนวทางโครงการฯ และมีส่วนร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐ ปี TO BE NUMBER ONE
ติดต่อ:
สำนักงานโครงการทูบีนัมเบอร์วัน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี
โทร. ๐-๒๕๙๐-๘๑๘๗ , ๐-๘๑๕๕-๙๙๗๔๑ โทรสาร ๐-๒๙๕๑-๑๓๗๔