ปภ. รายงานสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ อันเนื่องมาจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2005 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ปภ.
สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอรายงานสถานการณ์อุทกภัย อันเนื่องมาจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนัก ตั้งแต่ วันที่ 14 ธันวาคม 2548 ดังนี้.-
1. สถานการณ์อุทกภัย (ระหว่างวันที่ 14 - 19 ธันวาคม 2548)
1.1 พื้นที่ประสบภัย รวม 8 จังหวัด 93 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ 582 ตำบล 2,891 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง ตรัง ยะลา และสตูล
1.2 ความเสียหาย
1) ด้านชีวิต ประชาชนเดือดร้อน 179,991 ครัวเรือน 671,347 คน มีผู้เสียชีวิต 15 ราย (จังหวัดสงขลา 8 ราย พัทลุง 2 ราย ตรัง 2 ราย และยะลา 3 ราย) สูญหาย 3 ราย (จังหวัดนครศรีธรรมราช ยะลา และพัทลุง)
2) ด้านทรัพย์สิน ในเบื้องต้นได้รับรายงาน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 3 หลัง เสียหายบางส่วน 225 หลัง ถนน 463 สาย สะพาน 14 แห่ง พื้นที่การเกษตร 85,562 ไร่ ปศุสัตว์ 34,542 ตัว บ่อปลา 1,759 บ่อ
1.3 มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น อยู่ระหว่างการสำรวจ
2. พื้นที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส และสตูล
3. พื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์ รวม 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี พัทลุง ตรัง และ ยะลา
3.1 จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ประสบภัย 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ สทิงพระ ระโนด สิงหนคร กระแสสินธุ์ รัตภูมิ บางกล่ำ ควนเนียง สะบ้าย้อย เทพา นาทวี และนาหม่อม
สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีน้ำท่วมขัง จำนวน 12 อำเภอ ดังนี้
1) อำเภอหาดใหญ่ น้ำได้เอ่อล้นคลองอู่ตะเภา เข้าสู่พื้นที่ชุมชนเมืองเกือบทุกพื้นที่ ระดับน้ำลดลง สูงประมาณ 0.10 เมตร ถนนกาญจนวินิจ ตั้งแต่หน้าค่ายเสนาณรงค์ไปถึงหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และถนนสุภสานรังสรรค์ รถสามารถผ่านได้แล้ว บริเวณตลาดกิมหยง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20 เมตร ทั้งนี้ เทศบาลนครหาดใหญ่ได้จัดตั้งศูนย์ย่อยเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว ณ โรงเรียนเทศบาล 2 และโรงเรียนอนุบาลเทศบาลนครหาดใหญ่
- ถนนหาดใหญ่-ยะลา-ปัตตานี ระดับน้ำสูง ประมาณ 0.50 เมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
- ถนนสายเอเชีย (หาดใหญ่ — พัทลุง ) สามารถสัญจรไปมาได้ บางช่วงมีน้ำท่วมขัง สามารถเดินทางได้ในช่องทางเดียว ทั้งนี้ ชลประทานจังหวัดได้สูบน้ำออกจากคลอง ร.1 ฝั่งซ้าย ให้ลงคลองอู่ตะเภา และระบายสู่ทะเลสาบสงขลาเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อท่วมถนนสายเอเชีย ดังกล่าว
- ระดับน้ำในคลอง ร.1 คลองอู่ตะเภา คลอง 30 เมตร และคลองเตย ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงล้นตลิ่ง
- นายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ แจ้งให้เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ทุกพื้นที่เป็นเขตอุทกภัย ขอให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่ลุ่มขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง และอพยพไปยังที่ปลอดภัย โดยด่วน
2) อำเภอสทิงพระ มีน้ำท่วมขัง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลคูขุด ท่าหิน และคลองรี ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00 เมตร อำเภอได้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของตำบลคูขุด ไปอยู่ที่ศาลาประชาคม โรงเรียน สทิงพระวิทยา และบางส่วนอพยพไปอยู่ที่บ้านญาติ จำนวน 700 ครัวเรือน 2,800 คน
3) อำเภอระโนด มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 12 ตำบล 2 เทศบาลตำบล เทศบาลตำบลระโนด เทศบาลตำบลบ่อตรุ และหน้าที่ว่าการอำเภอ ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00-1.50 เมตร ถนนสายระโนด-สงขลามีน้ำท่วมบางจุดรถยังสามารถสัญจรได้ ประชาชนได้อพยพปศุสัตว์ไว้บนถนน
4) อำเภอสิงหนคร มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 11 ตำบล ถนนสายรองมีน้ำท่วมเกือบทุกสาย โดยเฉพาะที่ตำบลรำแดง ทำนบ และสะทิงหม้อ ระดับน้ำสูงประมาณ 1.30 เมตร เพราะว่าน้ำในคลองสะทิงหม้อ ไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้เนื่องจากน้ำทะเลหนุน การสัญจรไม่สะดวก บางพื้นที่ถูกตัดขาดไม่สามารถสัญจรได้
5) อำเภอกระแสสินธุ์ เกิดน้ำท่วมขัง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโรง เชิงแส เกาะใหญ่ และกระแสสินธุ์ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.60 เมตร ถนนสายหลักของตำบลเชิงแส มีน้ำท่วมเป็นช่วง ๆ น้ำจากเขาเกาะใหญ่ มีศัตรูพืชระบาด (เพลี้ย) ระบาดมากที่หมู่ 1 ตำบลโรง พื้นที่เสียหายประมาณ 450 ไร่ ขณะนี้ปริมาณน้ำท่วมยังคงอยู่ ปริมาณน้ำสูงประมาณ 1.50 เมตร เนื่องจากน้ำในทะเลสาบสงขลาหนุน ทำให้ระดับน้ำ ในพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ สูงขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับมีฝนตกหนักทำให้ถนนขาดการสัญจรไปมาของราษฎรไม่สะดวก
6) อำเภอบางกล่ำ ยังมีน้ำท่วม ริมคลอง ร.1 ที่ตำบลท่าช้าง โดยเฉพาะในหมู่ที่ 5 ได้มีการอพยพราษฎรไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ระดับน้ำสูงประมาณ 1.50 เมตร และมีน้ำท่วมขังไหลผ่านถนนเป็นช่วง ๆ ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีฝนตกเพิ่มลงมาอีก
7) อำเภอรัตภูมิ ยังคงมีน้ำท่วมขัง 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลเขาพระ ท่าชะมวง กำแพงเพชร คูหาใต้ ควนรู ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00 เมตร ถนนสายเอเชีย (หาดใหญ่-พัทลุง) ที่ถูกน้ำท่วมช่วงอำเภอรัตภูมิบริเวณบ้านคูหา ระยะทางประมาณ 1 กม. รถวิ่งได้ช่องทางจราจรเดียว
8) อำเภอควนเนียง เกิดน้ำท่วมขัง 4 ตำบล 1 เทศบาล ได้แก่ ตำบลรัตภูมิ ห้วยลึก บางเหรียง ควนโส และเทศบาลตำบลควนเนียง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30 เมตร
9) อำเภอสะบ้าย้อย เกิดน้ำท่วมไหลหลากทุกตำบล เนื่องจากฝนตกหนักไหลลงมาจากตำบลเขาแดง และตำบลบาโหย ระดับน้ำลดลง สูงประมาณ 1.00 เมตร เส้นทางสัญจรไป-มา ระหว่างสะบ้าย้อยไปยะลาและปัตตานี ไม่สามารถสัญจรได้ ได้อพยพประชาชน จำนวน 50 ครัวเรือน ไปไว้ที่ศาลาประชาคม
10) อำเภอเทพา เกิดน้ำท่วมทุกตำบลของอำเภอ
- ถนนหน้าที่ว่าการอำเภอเทพา ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00-1.50 เมตร รถทุกชนิด ไม่สามารถสัญจรไปมาได้
- ถนนเทพา-สะบ้าย้อย ระดับน้ำสูง ประมาณ 1.00 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้
11) อำเภอนาทวี น้ำยังคงท่วมขังในพื้นที่หมูที่ 4 ตำบลฉาง ,หมู่ที่ 5 ตำบลสะท้อน หมู่ที่ 5 ตำบลนาทวี หมู่ 5 ตำบลทับช้าง และหมูที่ 9 ตำบลคลองกวาง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 เมตร
12) อำเภอนาหม่อม พื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 4 ตำบล คือ ตำบลทุ่งขมิ้น หมู่ 1-7 ตำบลนาหม่อม หมู่ 1-10 ตำบลพิจิตร หมู่ 1-6 และตำบลคลองหรัง หมู่ 1-6 ฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น สูงประมาณ 0.80 เมตร ความเสียหายอยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจ
การให้ความช่วยเหลือ
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบข้าวสารอาหารแห้งถวายวัด ของอำเภอสทิงพระ จำนวน 50 ชุดอำเภอสิงหนคร จำนวน 100 ชุด
(2) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา และกองเรือภาค 2 จัดส่งเรือท้องแบนจำนวน 12 ลำ ไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย
(3) จังหวัด อำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมูลนิธิเพื่อการกุศล มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 20,000 ชุด
(4) สำนักงานชลประทานที่ 16 สนับสนุนเครื่องสูญน้ำ จำนวน 16 เครื่อง
ระดับน้ำในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (19 ธ.ค.48) ดังนี้
- จุดวัดน้ำบ้านคลองแงะ (X173) วัดได้ 18.25 เมตร (ระดับตลิ่ง 18.00 เมตร) สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.25 เมตร
- จุดวัดน้ำบ้านบางศาลา (X90) วัดได้ 9.27 เมตร (ระดับตลิ่ง 9.00 เมตร) สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.27 เมตร
- จุดวัดน้ำบ้านหาดใหญ่ใน (X44) วัดได้ 7.54 เมตร (ระดับตลิ่ง 6.50 เมตร) สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.04 เมตร
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เวลา 16.00 น. วันนี้ (19 ธ.ค.48)
จากการตรวจสอบระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา มีอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสะเดา ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอสะเดา เป็นที่ต้นน้ำมีปริมาณน้ำ 66.01 (ความจุ 56.74 ล้าน ลบ.ม.) ระดับน้ำเกินความจุ 9.27 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองหลา มีปริมาณน้ำ 25.48 ล้าน ลบ.ม. (ความจุ 25 ล้าน ลบ.ม.) ระดับน้ำเกินความจุ 0.48 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองจำไหร มีปริมาณน้ำ 6.04 ล้าน ลบ.ม. (ความจุ 6 ล้าน ลบ.ม.) ระดับน้ำเกินความจุ 0.04 ล้าน ลบ.ม.
3.2 จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 20 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอบางขัน หัวไทร นบพิตำ ร่อนพิบูลย์ สิชล พระพรหม เมือง ขนอม พิปูน เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งสง ถ้ำพรรณรา ชะอวด ทุ่งศาลา ทุ่งใหญ่ ปากพนัง พรหมคีรี จุฬาภรณ์ ลานสกา เชียรใหญ่ และกิ่งอำเภอช้างกลาง
สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีน้ำท่วม จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ หัวไทร และปากพนัง ในขณะนี้ระดับน้ำของอำเภอชะอวดได้ลดลง โดยปริมาณน้ำได้ไหลลงไปเพิ่มปริมาณที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ หัวไทร และปากพนัง ตามลำดับ ซึ่งทำให้อำเภอดังกล่าวมีระดับน้ำท่วมขังสูงขึ้นเป็นบริเวณกว้าง โดยในที่ลุ่มมีระดับน้ำสูงประมาณ 1.50—2.00 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
- กรมปศุสัตว์ได้จัดส่งหญ้าแห้ง สำหรับเลี้ยงสัตว์ จำนวน 5 คันรถ ไปสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว
3.3 จังหวัดปัตตานี ขณะนี้ไม่มีฝนตก แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ แม่ลาน หนองจิก ยะรัง เมือง และทุ่งยางแดง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น มีน้ำท่วมขยายกว้าง ประกอบกับน้ำจากจังหวัดยะลาไหลลงมาสมทบ ระดับน้ำสูงประมาณ 1.00 เมตร ทั้งนี้คาดว่า พื้นที่น้ำท่วมจะขยายเพิ่มขึ้นอีก
การให้ความช่วยเหลือ
1) จังหวัด เทศบาลเมืองปัตตานี ได้จัดเรือท้องแบน จำนวน 3 ลำ และเรือบรรทุกขนาดใหญ่จำนวน 2 ลำ เข้าช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้ว
2) เทศบาลเมืองปัตตานี มอบถุงยังชีพ จำนวน 800 ชุด
3) เทศบาลเมืองปัตตานี แจกถุงทรายให้ประชาชนในเขตเทศบาลเพื่อเสริมแนวกั้นน้ำเพิ่มเติม และใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 30 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังตลอด 24 ชั่วโมง
4) อำเภอหนองจิกได้อพยพราษฎรบ้านควนดิน จำนวน 40 ครัวเรือน ไปอยู่ที่ถนนสาย 42 (หนองจิก-โคกโพธิ์) และเร่งรัดให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น
5) เขื่อนปัตตานี นำรถแบคโฮ จำนวน 2 คัน ไปทำการขุดลอกทางระบายน้ำที่ตำบลเมาะมาวี และ บริเวณ กม.7-8 ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง เพื่อเร่งระบายน้ำ
3.4 จังหวัดพัทลุง ขณะนี้ฝนหยุดตก แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองบางส่วน แต่ในบริเวณเขตเทศบาลเมือง ไม่มีน้ำท่วมแต่อย่างใด ส่วนในพื้นที่ อำเภอเขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน ยังคงมี น้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพี้นที่ติดทะเลสาบ น้ำทะเลหนุน ระดับน้ำโดยทั่วไปสูงประมาณ 0.50-0.90 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แจกจ่ายถุงยังชีพ จำนวน 2,240 ชุด
3.5 จังหวัดตรัง ขณะนี้ฝนหยุดตกแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ เพราะว่าไม่สามารถระบายน้ำได้ เนื่องจากน้ำทะเลหนุน ประกอบกับน้ำที่ไหลมาสมทบจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง เฉลี่ยระดับโดยทั่วไปสูงประมาณ 0.30 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น
3.6 จังหวัดยะลา ขณะนี้สภาพทั่วไปไม่มีฝนตก ยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง อำเภอรอบนอก ได้แก่ อำเภอยะหา บังนังสตา กรงปินัง รามัน ระดับน้ำเริ่มลดลง สำหรับอำเภอเมือง โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครยะลา บริเวณชุมชนธนวิถี ชุมชนสามหมออุตสาหกรรม ชุมชนฝั่งตลาดเก่า โรงแรมยะลารามา ถนนรถไฟ ตลาดสด ระดับน้ำเริ่มลดลง สูงประมาณ 1.00 เมตร
การให้ความช่วยเหลือ
- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลาได้จัดเรือท้องแบนจำนวน 3 ลำ ให้การช่วยเหลือ
- อำเภอ ร่วมกับ อบต. ในพื้นที่ได้นำอาหารแห้ง พร้อมน้ำดื่มไปแจกให้กับราษฎรที่ประสบภัย จำนวน 240 ครัวเรือน พร้อมได้นำรถแบคโฮไปปรับพื้นผิวจราจรที่เกิดแผ่นดินสไลด์
- เทศบาลนครยะลา โรงเรียนเทศบาล 2 และโรงเรียนเทศบาล 6 ได้ร่วมกันจัดทำอาหารข้าวกล่อง แจกจ่ายประชาชนวันละประมาณ 10,000 ชุด จำนวน 3 มื้อ สำหรับน้ำดื่มต้องไปลำเลียงมาจากจังหวัดปัตตานี เนื่องจากไม่มีขวดบรรจุ
4. การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย
4.1 กระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดงาน “รวมใจไทย ซับน้ำตาชาวใต้” ในวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ตั้งแต่เวลา 22.00 — 24.00 น.
4.2 ในวันที่ 17-19 ธ.ค.48 รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย (พลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา) พร้อมด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายสุจริต ปัจฉิมนันท์) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายอนุชา โมกขะเวส) ได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัยและอำนวยการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลา พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย
4.3 เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.48) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช) พร้อมคณะ ได้เดินทางเพื่อไปร่วมประชุมวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ สงขลา และจังหวัดปัตตานี ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมรับรองท่าอากาศยานหาดใหญ่ พร้อมตรวจเยี่ยมและมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย
4.4 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี, เขต 3 ปราจีนบุรี, เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์เขต 5 นครราชสีมา, เขต 6 ขอนแก่น และเขต 8 กำแพงเพชร จัดส่งเรือท้องแบนจำนวน 60 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ ไปสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2548 แล้ว
4.5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดส่งถุงยังชีพ จำนวน 30,000 ชุด ไปช่วยเหลือจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง และได้จัดซื้ออีกจำนวน 25,000 ชุด สำหรับไปสนับสุนนแจกจ่ายผู้ประสบภัย โดยจะส่งถึงพื้นที่ในวันที่ 21 ธันวาคม 2548
4.6 เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.48) เวลา 15.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดส่งอาหาร (ข้าว) กระป๋อง พร้อมรับประทาน (ฮาราล) จำนวน 60,000 กระป๋อง โดยกองทัพอากาศได้สนับสนุนเครื่องบิน (C 130) เป็นพาหนะนำส่งไปที่จังหวัดปัตตานีแล้ว และได้เตรียมไว้สำหรับไปสนับสนุนแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยอีก 340,000 กระป๋อง
4.7 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ชื่อบัญชี “สบทบทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ประเภทเผื่อเรียก ธนาคารออมสิน สาขามหาดไทย หมายเลขบัญชี 00-0006-20-014496-3
4.8 ในวันนี้ (19 ธ.ค.48) เวลา 15.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดส่งอาหาร (ข้าว) กระป๋อง พร้อมรับประทาน (ฮาราล) จำนวน 19,968 กระป๋อง น้ำดื่ม 6,000 ขวด โดยกองทัพอากาศได้สนับสนุนเครื่องบิน (C 130) เป็นพาหนะนำส่งไปที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แล้ว
5. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน เรื่อง พายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง ฉบับที่ 2 (203/2548) ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2548 ว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (19 ธ.ค.48) พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 700 กิโลเมตรทางตะวันออกของปลายแหลมญวน หรือที่ละติจูด 8.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ อ่าวไทยในวันที่ 20-21 ธันวาคม 2548 จึงขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ พายุดีเปรสชั่นนี้จะมีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของภาคใต้ในช่วงวันที่ 21-23 ธันวาคม 2548 จึงขอให้ประชาชนเตรียมการวางแผนในการป้องกันภัยธรรมชาติไว้ล่วงหน้าด้วย และกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป อนึ่ง ในช่วงวันที่ 19-20 ธันวาคม 2548 ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณภาคใต้จะลดน้อยลงบ้าง
สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส รวมทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 (ปราจีนบุรี) เขต 4 (ประจวบคีรีขันธ์) เขต 11 (สุราษฎร์ธานี) และ เขต 12 (สงขลา) ให้เตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย โคลนถล่ม และคลื่นลมแรง อันเกิดจากอิทธิพลของสภาวะอากาศดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2548 แล้ว
6. ปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่ 07.00 น วันที่ 18 ธ.ค.48 ถึง 07.00 น วันที่ 19 ธ.ค.48 วัดได้ ดังนี้
- จ.พัทลุง (อ.บางแก้ว) 165.0 มม. (อ.กงหรา) 150.0 มม.
- จ.สงขลา (อ.สทิงพระ) 135.0 มม.
- จ.นครศรีธรรมราช (อ.เชียรใหญ่) 90.3 มม.
- จ.ปัตตานี (อ.ทุ่งยางแดง) 40.0 มม.
- จ.ตรัง (ท่าอากาศยานตรัง) 25.9 มม.
7. จากการตรวจสอบสภาวะฝนจากสถานีเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยา ในวันที่ 19 ธ.ค.48 เวลา 17.30 น. พบว่า มีกลุ่มฝนกำลังอ่อนปกคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพัทลุง และสงขลา
8. สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์คืบหน้าประการใด จักได้ติดตามและรายงานให้ทราบต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย
โทร. 0-2241-7450 - 62, โทรสาร 0-2241-7450 - 6 สายด่วน 1784--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ