กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--แบงค์คอก ไรเตอร์
นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทยในในปีนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับมอบหมายให้จัดทำระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ระบบตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วม และระบบศูนย์รวมข้อมูลอุทกภัยไทย เพื่อให้บริการการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่พื้นฐานบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศ (Geographic Information : GI) ผ่านโครงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) และโครงการจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ภาพถ่าย มาตราส่วน 1 : 4000 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการประยุกต์ใช้งานระบบบริการแผนที่กลาง (Web Map Portal / GI Portal) ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก บมจ. ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนระบบให้บริการภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำข้อมูลพื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศมาใช้งานเพื่อรองรับการบริการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำข้อมูลพื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศ (Geographic Information : GI) มาใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบ Thai Crisis Planner & Reporter กับระบบบูรณาการข้อมูลของกระทรวงฯ
สำหรับระบบ Thai Crisis นี้ เป็นระบบที่เหล่าคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำและหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ รองศาสตราจารย์ชัยยุทธ สุขศรี และอาจารย์ ดร. อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ ร่วมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว ภาควิชาการสื่อสารมวลชน จากคณะนิเทศศาสตร์ ได้ร่วมกันพัฒนาต่อเนื่องมาจาก ระบบ Flood_REST เพื่อใช้เป็น “เครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตนเอง” ซึ่งหลังการเปิดตัวระบบ Flood_REST ปรากฏว่า มีผู้ให้ความสนใจและนำระบบไปใช้งานเพื่อประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการพัฒนาระบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น
“ผลของความร่วมมือและบูรณาการในครั้งนี้ จะทำให้มีระบบ Crisis Planner ที่สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการวิกฤตสำหรับประชาชนได้กว้างขวางขึ้น ประชาชนจะมีเครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมที่ออกแบบสำหรับผู้วางแผนเตรียมรับมือน้ำท่วม ไปจนถึงการฟื้นฟูกู้วิกฤต ประชาชน ผู้ประกอบการ และส่วนราชการ สามารถใช้ในการประเมินกายภาพ วิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วม และวางแผนการกู้และฟื้นฟูบ้านเรือน สถานประกอบการ พื้นที่อุตสาหกรรมในภาพกว้างได้
ส่วน Crisis Reporter จะเป็นเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ด้วยการตรวจจับภาวการณ์ขึ้น - ลงของน้ำท่วมโดยอาศัยการรายงานจากเครือข่ายสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังการแพร่ขยายวงของน้ำท่วมที่กำลังแทรกซึมสู่กรุงเทพมหานครในขณะนี้ อีกทั้งใช้ติดตามการลดลงของระดับน้ำเพื่อกลับเข้าไปฟื้นฟูหรือเข้าอยู่อาศัยต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
สำหรับเวบไซต์และเครือข่ายสังคมต่างๆ สามารถเข้าเป็นพันธมิตรกับ “Thai Crisis” ได้ โดยการส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามารายงานสถานการณ์น้ำ เรียกดูข้อมูลสรุป และนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนรับมือวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการวางแผนฟื้นฟูอีกด้วย โดยเวบไซต์ หรือ เครือข่ายสังคมที่มีอยู่แล้ว จะสามารถเชื่อมต่อและนำเข้ามูลเพื่อบูรณาการกับระบบที่มีอยู่เดิม รวมทั้งเรียกใช้ข้อมูลที่สาธารณชนได้บันทึกเข้ามาในระบบ Thai Crisis และนำไปวิเคราะห์วิจัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ซึ่งขณะนี้ได้มีพันธมิตรที่ห้ความสนใจในระบบ Thai Crisis แล้ว คือ Longdo Map, Thai Flood และ Flood Helps โดยจะนำข้อมูลไปผนวกรวมกับการบริการข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนและสังคมได้เข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น