กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--กรีนพีซ
กรีนพีซเรียกร้องรัฐบาลไทยออกมาตรการจัดการปัญหามลพิษในสถานการณ์น้ำท่วมโดยด่วน และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมช่วยแก้ปัญหาโดยลด แยก และยุติการทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำ น้ำท่วมครั้งนี้ได้นำพาสารมลพิษและขยะจำนวนมหาศาลมารวมกันในน้ำท่วมขัง เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างร้ายแรง สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศขณะนี้ยังไม่ดีขึ้นและได้ขยายวงกว้างสู่กรุงเทพมหานครซึ่งมีประชากรอาศัยหลายล้านคน ปัญหาที่น่ากังวลขณะนี้คือมลพิษและผลกระทบทางสุขภาพ โรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ อย่างเช่น อหิวาตกโรค ฉี่หนู ไทฟอยด์ และโรคอื่นๆ เป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค อย่างเช่นในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองต่างๆที่เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว “เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนคนไทยให้ตระหนักถึงผลกระทบด้านมลพิษทางน้ำ และดังนั้นเราทุกคนจึงควรมองถึงต้นเหตุของปัญหาและป้องกันมิให้เกิดขึ้น สิ่งที่เราเกี่ยวข้องโดยตรงกับต้นเหตุของปัญหาก็คือขยะที่เกิดจากการบริโภคของเราเอง” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
“ช่วงเวลานี้ตรงกับประเพณีลอยกระทง ซึ่งเราควรระลึกถึงคุณูปการของสายน้ำและขอขมาที่เราได้ล่วงเกิน ทุกคนสามารถที่จะร่วมลดมลพิษในแหล่งน้ำโดยช่วยกันการเก็บขยะทั้งบนบกในในน้ำที่ท่วมขัง รวมถึงการแยกขยะหลังการบริโภค” นายพลายกล่าวเสริม
จากการสำรวจของกรีนพีซพบว่าพื้นที่น้ำท่วมหลายแห่งกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางน้ำที่รุนแรง ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เราควรพิจารณาเพื่อจัดการแก้ไข นั่นคือ น้ำที่ไหลมาจากพื้นที่อุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชน ที่อาจนำพาสารมลพิษต่าง ๆ รวมถึงสารเคมีอันตรายที่อาจมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนลงสู่น้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ขยะหลังการใช้อย่างเช่น กล่องโฟมและพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ขยะเปียกและของเสียขับถ่ายจะเป็นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆหากถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ หลังจากน้ำลดจะมีขยะอันตรายจากบ้านเรือนอย่างเช่น แบตเตอรี่และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ล้วนเป็นขยะอันตรายจำนวนมหาศาลที่จะเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษคาดว่าจะมีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมทั้งสิ้นราว 3 ล้านตัน
“เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการกับขยะจำนวนมหาศาล ขยะบางประเภทที่เป็นขยะอันตรายจะต้องมีวิธีการจัดการที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐควรตรวจสอบคุณภาพของแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการผลิตน้ำดื่ม อย่างเช่นในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากน้ำที่ไหลท่วมมาจากหลายพื้นที่นั้นมีสารเคมีหลากหลายชนิดและท้ายสุดได้ไหลลงสู่แม่น้ำ”
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการปัญหามลพิษที่มาจากอุทกภัยอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่การเก็บขยะและกระบวนการจัดการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในระยะยาวเราควรนำปัญหาด้านมลพิษในครั้งนี้มาเป็นบทเรียนเพื่อและพัฒนามาตรการรับมือป้องกันแก้ไข มีมาตรการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลด้านมลพิษให้รู้ถึงการใช้และปลดปล่อยสารเคมีอันตราย รวมถึงมาตรการปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษ
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 02-357-1921 ต่อ 135, 081-658-9432