กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.47) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 14 (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2547 ได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดบางประเภท ในบริเวณสวนเบญจกิติและบริเวณโดยรอบ ในท้องที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย และแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ…. ในวาระที่สองและวาระที่สาม
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว กล่าวว่า เนื่องจากได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดบางประเภท ในบริเวณสวนเบญจกิติและบริเวณโดยรอบ ในท้องที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย และแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ออกใช้บังคับโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาสภาพแวดล้อม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง การผังเมือง และการควบคุมความหนาแน่นของอาคาร ด้วยการกำหนดมาตรการควบคุมความสูง ชนิด และประเภทอาคาร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทั้งนี้ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีผลบังคับใช้ชั่วคราว ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับ จะทำให้เป็นอันถูกยกเลิกไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายบังคับอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้น
ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยจะนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาลงนามและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ ฉบับที่… พ.ศ… ซึ่งญัตติดังกล่าวเสนอโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการจัดสรรพัสดุของกรุงเทพมหานคร มีความคล่องตัว และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเพื่อให้มีมาตรการป้องกันหรือลดโอกาสการสมยอมกันในการเสนอราคา ทำให้การจัดซื้อ และการจัดจ้าง เป็นไปอย่างถูกต้อง มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ปี พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 - 6 ประกอบกับตามพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการกรุงเทพมหานครปี พ.ศ.2528 ตามมาตรา 97 (4) บัญญัติว่า การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ ต้องตราร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจึงเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ ฉบับที่… พ.ศ…. ให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมสภากทม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าว และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติฯจำนวน 21 คน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร 10 คน สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 11 คน--จบ--
-นห-