กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สำนักงาน คปภ.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการกระชับกระบวนการชำระค่าสินไหมทดแทน พร้อมแจงเหตุอัตราเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมอาจเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศรอความชัดเจนเพื่อประมวลภาพรวมความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัยทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่คาดเป็นผลกระทบระยะสั้น
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยภายหลังการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าที่ประชุมได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยพบว่าสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลในขณะนี้มี 2 ประการหลักๆ คือ การประเมินมูลค่าความเสียหายที่อาจมีความล่าช้าเนื่องผู้ได้รับความเสียหายมีจำนวนมาก และแนวโน้มเบี้ยประกันภัยที่อาจปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงบริษัทประกันภัยบางแห่งไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าแนวทางหนึ่งในการเร่งกระบวนการชำระค่าสินไหมทดแทนคือการเพิ่มบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเหมาะสมเป็นผู้ประเมินความเสียหายอาทิ เช่น คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิในสมาคมวิชาชีพ อาทิเช่น สมาคมวิศวกรรมสถาน สมาคมสถาปนิก ฯลฯ โดยสำนักงาน คปภ.จะปรับหลักเกณฑ์ให้ผู้ทรงวุฒิเหล่านี้สามารถเป็นผู้ประเมินความเสียหายในทรัพย์สินจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากผู้ประเมินที่ขึ้นทะเบียนอยู่กับสำนักงาน คปภ. อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้สำนักงาน คปภ.จะร่วมหารือกับสมาคมประกันวินาศภัย ผู้ประเมินความเสียหาย และผู้ทรงคุณวุฒิข้างต้น เพื่อกระจายงานสำรวจความเสียหายและลดการกระจุกตัวของการเข้าไปสำรวจภัยในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยให้บริษัทประกันภัยมีบุคคลากรที่เพียงพอในการประเมินความเสียหายเพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้เร็วขึ้น
สำหรับกรณีที่เบี้ยประกันภัยปรับตัวสูงในช่วงนี้เป็นผลจากภาพรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นและยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆยังไม่สิ้นสุด เราต้องเร่งรัดการให้ความชัดเจนในมาตรการบริหารความเสี่ยงอุทกภัยของภาครัฐและเอกชนตลอดจนผู้เอาประกันภัยต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับประกันภัยในประเทศและผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศ
สำหรับการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย แนวทางหนึ่งคือการจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัย (sub limit) สำหรับอุทกภัย กล่าวคือ ในอดีตอุทกภัยในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงมีความเสี่ยงที่ต่ำมากและมีการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่ต่ำมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวการณ์แข่งขันกันของบริษัทประกันวินาศภัย ผู้ขายอยากขาย แต่ก็มีผู้ซื้อไม่มากนัก ในขณะเดียวกันจำนวนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็เป็นการประกันภัยทรัพย์สินแบบเต็มจำนวน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนทรัพย์สินที่เสียหายจากเหตุอุทกภัย โดยทั่วไปแล้ว เป็นพียงส่วนหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด อาทิเช่น เมื่อน้ำลดแล้ว ตัวโรงงาน อาคาร บ้านเรือนยังอยู่ ความเสียหายเป็นเพียงสัดส่วนจำนวนหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด
เมื่อเกิดภัยขึ้นในวงกว้างและรุนแรง ลักษณะการทำประกันภัยอุทกภัยเช่นในอดีตทำให้การต่ออายุประกันภัยไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ปัญหาในการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับอุทกภัยทำให้ภัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุทกภัยไม่ได้รับความคุ้มครองไปด้วย การกำหนด Sub limit สำหรับอุทกภัย เป็นการจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัย เฉพาะเหตุอุทกภัยในจำนวณหรือสัดส่วนที่เหมาะสมตามแต่จะตกลงกัน เพื่อให้การต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้มาตรการบริหารความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยเองก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการกำหนดสัดส่วนทรัพย์สินเอาประกันที่เหมาะสม
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนการเพิ่มบุคลากรผู้ประเมินความเสียหายให้เพียงพอ เพื่อที่จะสามารถเร่งรัดการชำระค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเสีย อีกทั้งการจัดให้มี sub limit สำหรับอุทกภัย ก็เป็นมาตรการสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ส.อ.ท. ขอให้ สำนักงาน คปภ.และภาคธุรกิจประกันภัย จัดส่งคู่มือประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ชัดเจนด้วย
เลขาธิการ คปภ.กล่าวย้ำว่าสำนักงาน คปภ.พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และตระหนักดีว่าหากภาคอุตสาหกรรมได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวดเร็วเท่าใด ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้นเท่านั้น ดังนั้นสำนักงาน คปภ.และภาคธุรกิจประกันภัยจึงได้มีแผนเชิงรุกร่วมกันในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมถึงพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของ
ผู้ได้รับความเสียหาย นิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการจัดตั้งศูนย์“ประกันภัยร่วมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” เพื่อรับแจ้งเหตุ และให้คำแนะนำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งได้เปิดสายด่วนประกันภัย 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ”
ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงาน คปภ.
โทร. 02-6580760