กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--พพ.
พพ. เชื่อมั่น หลังวิกฤตน้ำท่วม เป็นโอกาสส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม(SME) ใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานเบอร์ 5 อย่างจริงจัง วางมาตรการเยียวยาหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนด้านการเงิน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รับแลกอุปกรณ์เก่าที่เสียหาย ยันดูแลชุมชนย่านท่าโขลง สามโคก จ.ปทุมธานี กว่า 1000 คน 850 ครัวเรือน ให้ได้รับอาหารและน้ำดื่มต่อเนื่องจนกว่าน้ำลด
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.ได้เตรียมแผนงานฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทน โดยจะเน้นการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดย่อมหรือ SME และหน่วยงานภาครัฐขนาดเล็กที่ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ อาทิ ชุมชนโอทอปต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นได้พิจารณาการช่วยเหลือหลายรูปแบบ เช่น มาตรการด้านการเงิน ผ่านโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับกลุ่ม SME ในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เสียหาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดังกล่าวใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานคุณภาพสูงทดแทน รวมไปถึงโครงการรับแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสียหายจากการจมน้ำ อาทิ ปั๊มน้ำ มอเตอร์ เตาแก๊ส ให้ปรับมาใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง เช่นกัน
ทั้งนี้ นอกจากมาตรการฟืนฟูและเยียวยาข้างต้นแล้ว พพ. ยังได้เตรียมการซ่อมแซมระบบผลิต และอุปกรณ์สาธิตด้านอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทน ในส่วนของ Mini plant และ Display center ที่บริเวณอาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์บริการวิชาการ จ.ปทุมธานี ซึ่งได้รับความเสียหายประมาณ 60 ล้านบาท รวมไปถึงขณะนี้ พพ.ได้รับทราบว่ายังมีโครงการสาธิตหลายแห่ง ได้รับความเสียหาย อาทิ ระบบไบโอดีเซลชุมชน ก๊าซชีวภาพ ระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ และน้ำร้อนแสงอาทิตย์ ที่ชำรุดจากอุทกภัยครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบัน พพ.อยู่ระหว่างตรวจสอบความเสียหายทั้งหมด และขอประชาสัมพันธ์ถึงโครงการสาธิตอื่น ๆ ที่เคยเข้าร่วมโครงการกับ พพ. หากพบว่าเกิดความเสียหาย ให้แจ้งประสานกลับมาที่ศูนย์บริการวิชาการทั้ง 10 แห่งของ พพ. ทั่วประเทศ
“แม้ในวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งถือเป็นภัยธรรมชาติครั้งนี้ จะนำความเสียหายมาให้กับประเทศไทย นับมูลค่ามิได้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรม หันมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง โดย พพ.พร้อมจะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงทั้งในด้านวิชาการ ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการสนับสนุนในด้านการเงิน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ให้กลับมาเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป”นายไกรฤทธิ์กล่าว
นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปัจจุบัน พพ.ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ได้เข้าช่วยเหลือชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบศูนย์บริการวิชาการ ฯ ที่ 1 จ.ปทุมธานี ได้แก่ ชุมชนบริเวณท่าโขลง และชุมชนสามโคก มาตั้งแต่วันที่12 ตุลาคม หรือประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา โดยได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลประชาชนประมาณ 1,000 คน จำนวน 850 ครัวเรือน ให้ได้รับอาหารและเครื่องดื่มอย่างพอเพียงทุกวัน นอกจากนี้ พพ.ยังได้รับการบริจาค อาหารสด /แห้ง และเงินสนับสนุนจากผู้ประกอบการหลายแห่ง และสามารถระดมเงินช่วยเหลือให้แก่ชุมชนบริเวณดังกล่าวประมาณ 1 ล้านบาท
นายไกรฤทธิ์ นิคูหา พร้อมผู้บริหาร พพ. มอบอาหารพร้อมน้ำดื่มและของใช้จำเป็นต่างๆให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม บริเวณบ้านท่าโขลง หมู่ 18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554