กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สสวท.
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน ตามแนวทางของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เริ่มแรกนั้นได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบที่โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา จังหวัดนราธิวาส หลังจากนั้น ได้ขยายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนไปยังโรงเรียนอื่น ๆ และเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน เพื่อจัดการศึกษาทางไกลเต็มรูปแบบ มีการจัดตั้งต้นทางปลายทาง เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ อาทิ Video Conference หรือ E-Learning
การดำเนินงานครั้งนี้ บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนภายใต้โครงการ ซี พี เอ็น เพาะกล้าปัญญาไทย โดยมุ่งเน้นชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และได้รับประโยชน์ และใช้งานศูนย์การเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสมบูรณ์ และมีบุคลากรประจำศูนย์ที่เชื่ยวชาญด้วยการสอนคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่จัดการสื่อ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนตามแนวทาง สสวท. เปิดให้บริการทั้งหมด 10 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนดารุสสาลาม อำเภอระแงะ นราธิวาส โรงเรียนอาลาวียะห์วิทยา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โรงเรียนประภัสสรวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โรงเรียนห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โรงเรียนรวมศูนย์วัดห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนตัสดีกียะห์ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนแม่ปะวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โรงเรียนบำรุงอิสลาม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนแม่ปะวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานยอดเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน ปี 2554 จาก สสวท. ไปหมาด ๆ เมื่อเดือนกันยายน 2554 ณ โรงแรมรอแยล เบญจา กรุงเทพ ฯ เรามาตามไปเยี่ยมชมศูนย์นี้กัน
อาจารย์กาญจนา ตุ่นคำแดง คุณครูคอมพิวเตอร์ โรงเรียนแม่ปะวิทยาคม ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนแม่ปะวิทยาคม บอกกับเราว่า การดำเนินงานของศูนย์แห่งนี้เป็นไปตามแนวทาง สสวท. โดยทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และได้รับประโยชน์ สนับสนุนส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความสนใจและรักการศึกษาหาความรู้ เน้นให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบสื่อต่างๆ ที่ควรมีในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
ในส่วนของงบประมาณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนแม่ปะวิทยาคมได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จำนวน 500,000 บาท และ สสวท. ให้การสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ การอบรมครู หลักการจัดศูนย์ฯ การดำเนินงาน อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ
บทบาทของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนแม่ปะวิทยาคม มุ่งให้บริการแก่นักเรียนทั้งในและนอกเวลาเรียน ให้บริการแก่ผู้ที่สนใจหรือหน่วยงานอื่น ๆ ใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ต่อผู้ปกครอง ชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับคนในชุมชน รวมทั้งได้ขยายผลให้บริการให้แก่โรงเรียนในเขตพื้นที่บริการในตำบลแม่ปะ และตำบลแม่กาษา จำนวน 10 โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถมศึกษา
ภายในศูนย์แบ่งพื้นที่การให้ให้บริการเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย มุมคอมพิวเตอร์ มีคอมพิวเตอร์ 6 ชุด สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อสืบค้นข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ สามารถใช้ร่วมกับสื่อการสอนที่พัฒนาแบบมัลติมีเดียได้ ใช้ร่วมกับสื่อวิดิทัศน์ได้ มีเครื่องพิมพ์ 1 ชุด สามารถพิมพ์ได้ทั้งภาพสี และ ภาพขาวดำ มุมวิดิทัศน์ มีโทรทัศน์ขนาด 40 นิ้ว พร้อมเครื่องเล่น CD ,VCD และ DVD พร้อมสื่อวิดิทัศน์ ไม่ต่ำกว่า 700 เรื่อง มีลิขสิทธิ์จาก สสวท. มุมอ่านหนังสือ มีโต๊ะอ่านอ่านหนังสือ 8 ชุด พร้อมเบาะนั่งพื้น ชั้นวางหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และความรู้ทั่วไป มุมแสดงสื่อ ได้แก่ ตู้แสดงสื่อมีทั้งของเล่นไม้ ของเล่นพลาสติก พร้อมทั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์
“กิจกรรมที่จัดภายในศูนย์ ฯ ส่วนใหญ่ให้บริการแก่นักเรียนในช่วงเวลาต่าง ๆ และให้บริการพิเศษแก่หน่วยงานอื่น ๆ ตามช่วงเวลาที่ต้องการ กิจกรรมที่ผ่านมา เช่น วันวิทยาศาสตร์ซึ่งนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ให้นักเรียนในเขตพื้นที่บริการมาใช้สื่อประเภทของเล่นวิทยาศาสตร์ และการพับกระดาษเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบต่าง ๆ การดำเนินงานของศูนย์ ฯ ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และเพื่อนครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งดีใจที่โรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุน และมีแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่ห่างไกลได้เข้าถึงเทคโนโลยี และความรู้มากยิ่งขึ้น” อาจารย์กาญจนากล่าว
อาจารย์กาญจนา ตุ่นคำแดง นั้นเป็นนักศึกษาทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ทุน สควค.) รุ่นที่ 6 และเป็นวิทยากรแกนนำคอมพิวเตอร์ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. บอกกับเราว่าเมื่อได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวจึงภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้มีโอกาสตอบแทน สสวท. ให้ทุนการศึกษา และสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนและชุมชนที่ห่างไกล และนอกจากนั้น ยังนับว่าศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะสามารถพัฒนาไปควบคู่กับการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย
อาจารย์อิสริยา ณ พัทลุง ครูผู้สอนชีววิทยา โรงเรียนแม่ปะวิทยาคม ผู้ดูแลและให้บริการแก่นักเรียน กล่าวว่า ดีใจที่ได้ศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไว้ให้บริการและใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเฉพาะกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงที่สามารถทำให้สอนวิชาชีววิทยาได้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นอยากให้ศูนย์เพิ่มขนาดห้อง และอุปกรณ์ของเล่นวิทยาศาสตร์ และอยากได้รับการสนับสนุนด้านสื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
นายทนงศักดิ์ ใจกัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้ร่วมกับคุณครูพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน ตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน เพราะจะได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ประทับใจทีวีจอใหญ่ที่สามารถนั่งชมพร้อมกับเพื่อน ๆ ได้หลายคน และมีมุมอินเทอร์เน็ตไว้ให้สืบค้น ใช้ในการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา อยากเพิ่มขนาดห้องให้ใหญ่ขึ้น
นายณัฐวุฒิ นากาโน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประทับใจของเล่นทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องใช้สมาธิ และพัฒนาศักยภาพทางด้าน สมอง จิตใจ อารมณ์ของผู้เล่น อยากให้เพิ่มหรือต่อเติมห้องให้กว้างขวางขึ้น และเพิ่มของเล่นหนังสือ หรือสื่อต่างๆ ที่พัฒนาศักยภาพของนักเรียน ศูนย์นี้ให้ประโยชน์กับเรามากมาย เช่น ให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันที่เราเห็นอยู่ทุกวัน หรืออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดรอบตัวเรา และความรู้ทั่วไปที่เราไม่ทราบ ก็สามารถค้นหากันได้ และยังสามารถหาผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ด้วย