กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--เวิรฟ
นับตั้งแต่วันที่รถ “เบนซ์ เพเทนท์ มอเตอร์ คาร์” รถยนต์คันแรกของโลก ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1886 นับเป็นเวลาถึง 125 ปี ที่ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ซึ่งเป็นผู้นำด้านการคิดค้นและประดิษฐ์ยนตรกรรมของโลกได้พัฒนานวัตกรรมยานยนต์ด้านต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำที่เพียบพร้อมไปด้วยความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ จะยังคงรักษาบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตแห่งการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน ด้วยการเป็นผู้นำนวัตกรรมยานยนต์ โดยมุ่งตอกย้ำใน 5 ด้าน อันได้แก่ ผู้นำนวัตกรรมด้านการผลิตรถยนต์ ผู้นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียนตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ผู้นำนวัตกรรมด้านความปลอดภัย ผู้นำนวัตกรรมด้านความสะดวกสบาย และผู้นำนวัตกรรมด้านดีไซน์ เพื่อยกระดับมาตรฐานของนวัตกรรมการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องให้แก่โลกยานยนต์
หากจะพูดถึงมาตรฐานสำหรับรถยนต์ทั่วโลก เรื่อง “ความปลอดภัย” จะถูกหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก เช่นเดียวกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับภารกิจในการสร้างความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยเรามุ่งมั่นสานต่อความทุ่มเทด้านการพัฒนาระบบความปลอดภัยอย่างจริงมาโดยตลอด ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อลดผลกระทบจากแรงปะทะในการชนหรือไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นแก่ผู้โดยสาร โดยพันธกิจหลักของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คือ การลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ให้เป็นศูนย์ นอกจากนี้ปรัชญาของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การป้องกันอุบัติภัยแก่ผู้ขับขี่และ หากเราหยุดมันไม่ได้ สิ่งต่อไปที่เราต้องทำ คือ การลดผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุนั้น” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำงานของเราจากวิวัฒนาการของการคิดค้น พัฒนา และสรรค์สร้างนวัตกรรมด้านความปลอดภัย
สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยอันเป็นตำนานของเมอร์เซเดส-เบนซ์เริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 ผู้บุกเบิกด้านความปลอดภัยนามว่า เบล่า บาเรนญี (B?la Bar?nyi) ได้ช่วยพัฒนาและค้นพบระบบปลอดภัยใหม่ๆ มากมาย ซึ่งเขาถือเป็นผู้วางรากฐานการสร้างความปลอดภัยให้กับยานยนต์ โดยนวัตกรรมแรกได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 1931 รถยนต์เมอร์เซเดสรุ่น 170 เป็นรถยนต์โดยสารคันแรกที่ใช้ระบบเบรคแบบไฮดรอลิคทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถัดมาในปี 1958 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังเป็นผู้ริเริ่มโปรแกรมการทดสอบการชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งกลายเป็นเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยในรถยนต์มาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาในปี 1959 รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น 220, 220 S และ 220 SE ซึ่งอยู่ในซีรีส์ที่มีชื่อว่า “เบนซ์หางปลา (Fintail)” ได้เปิดมิติใหม่ให้กับวงการยานยนต์ด้วยการเป็นซีรีส์แรกในโลกที่ผลิตขึ้นมาพร้อมกับพื้นที่ยืดหยุ่นรับแรงประทะ (Crumple Zone) รวมทั้งห้องโดยสารที่มีความแข็งแกร่งทนทานเป็นพิเศษ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ถือเป็นต้นแบบของแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย
นับตั้งแต่ปี 1966 เป็นต้นมา วัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คือ การช่วยลดการบาดเจ็บของผู้โดยสาร และลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่คนอื่นๆ บนท้องถนนด้วยเทคโนโลยี ความปลอดภัยที่ทรงประสิทธิภาพในรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยในปี 1969 ได้มีการประดิษฐ์เข็มขัดนิรภัยแบบ สามจุดเข้ามาใช้เป็นอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ และถัดมาในปี 1971 แนวคิดเรื่องนวัตกรรมด้านความปลอดภัยแบบสมบูรณ์ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยเริ่มเพิ่มอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ไว้ในรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ 350 SL ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ยนตรกรรมที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อป้องกันและรับมือกับอุบัติเหตุ อาทิ ถังน้ำมันที่ออกแบบให้สามารถทนแรงกระแทกที่เกิดจากการปะทะได้ เป็นการลดผลกระทบอันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย เช่น การระเบิด หรือ น้ำมันรั่ว
ในขณะที่นวัตกรรมด้านความปลอดภัยช่วงก่อนและระหว่างทศวรรษ 70 ถือเป็นนวัตกรรมด้านความปลอดภัยที่ได้รับการพัฒนาในรูปแบบ Passive safety ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยที่เป็นการปกป้องและบรรเทาอันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายยุค 70 เมอร์เซเดส-เบนซ์ก็ได้พัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยในรูปแบบ Active safety โดยได้คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันผู้ขับและผู้โดยสารก่อนเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS ซึ่งได้นำมาใช้กับรถยนต์นั่งโดยสารเป็นครั้งแรกในรุ่น S-Class 116-Series ในปี 1978 ถัดมาในปี 1981 ถุงลมนิรภัยก็ได้ถูกประดิษฐ์และติดตั้งเป็นครั้งแรกในรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น S-Class และ Coupe (126-Series) เพื่อช่วยลดแรงกระแทกจากการชนตรงส่วนคนขับ ซึ่งทั้งสองสิ่งได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่รถยนต์ทุกคันจำเป็นต้องมีในปัจจุบัน
อีกหนึ่งนวัตกรรมด้านความปลอดภัยที่ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงปี 1995 ที่มีความสามารถในการช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ให้แก่ผู้ขับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้ถึง ร้อยละ 42 คือ โปรแกรมควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ (ESP- Electronic Stability Program) ซึ่งช่วยให้ล้อรถยนต์เกาะยึดผิวถนนได้ดีขึ้น รวมถึงการควบคุมการทรงตัวของระบบช่วงล่าง เมื่อเกิดการเบรกรถอย่างกระทันหัน โดยได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในรถ เมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น S 600 Coupe ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นฟีทเจอร์มาตรฐานของรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ทั่วโลก นับเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำในฐานะผู้บุกเบิกด้านความปลอดภัยให้แก่ ยนตรกรรม ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เกิดประโยชน์จริงแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ จากนั้นต่อมาในปี 2002 เทคโนโลยีล่าสุดที่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการคิดค้นและพัฒนาด้านความปลอดภัยในโลกยานยนต์ก็ได้ถูกรังสรรค์ขึ้น นั่นคือ ระบบปกป้องก่อนเกิดเหตุ (PRE-SAFE) ซึ่งได้นำมาใช้ในรถเมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น S-Class 220-Series โดยระบบนี้เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีแบบ Passive Safety และ Active Safety ซึ่งได้รับรับรางวัลด้านความปลอดภัยระดับนานาชาติมากมาย ด้วยการทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ของระบบ ESPและระบบช่วยเบรก BAS โดยระบบ PRE-SAFEจะทำการดึงสายเข็มขัดนิรภัยส่วนคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าให้กระชับเข้ากับร่างกายในทันที เมื่อพบว่ารถกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ระบบยังช่วยปรับที่นั่งให้อยู่ในท่านั่งที่เหมาะสม รวมถึงระบบจะสั่งการปิดหน้าต่างแบบอัตโนมัติ เพื่อเตรียมความพร้อมและปกป้องอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ปกป้องทุกชีวิตภายในห้องโดยสารให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด
ในปัจจุบันระบบความปลอดภัยต่างๆ ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการบูรณาการระบบต่างๆ เข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบสั่งการด้วยเสียงแบบ (Linguatronic) ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมการทำงานของวิทยุ เครื่องเล่นดีวีดี ระบบนำทางและโทรศัพท์ โดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย โดยนวัตกรรมนี้ได้นำมาใช้กับรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ตั้งแต่ปี 1997 ระบบ Distronic System ที่ใช้เรด้าเป็นตัวเซ็นเซอร์ในการวัดระยะห่างของรถคุณจากรถที่อยู่ข้างหน้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยระบบนี้ได้รับการพัฒนาให้ร่วมกับระบบส่องสว่างอัจฉริยะ (Intelligent Light System) เทคโนโลยีระบบไฟส่องทางที่ได้รับการพัฒนา เพื่อช่วยให้ทัศนวิสัยการขับขี่ยามค่ำคืนเป็นไปอย่างชัดเจนและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยระบบจะทำหน้าที่ปรับระดับความสว่างของไฟหน้าให้เหมาะสมกับสภาพการขับขี่ รวมถึงระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (ATTENTION ASSIST) ที่ได้รับการพัฒนาโดยสามารถตรวจจับและวิเคราะห์ได้มากกว่า 70 ลักษณะพิเศษที่แสดงถึงความเหนื่อยล้าขณะการขับขี่ และส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับขี่เกิดความระมัดระวัง
นวัตกรรมด้านความปลอดภัยที่เป็นไฮไลท์ทั้งหมดนี้คือ ผลงานจากพันธกิจของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ในการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ให้เป็นศูนย์ ความท้าทายต่อไปของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คือ การสร้างสรรค์ยนตรกรรมเจเนอเรชั่นใหม่ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับการใช้รถ ใช้ถนนของทุกคนในโลกปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 125 ปีที่ผ่านมาเปรียบเสมือนสิ่งที่ยืนยันว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่เพียงแต่ประดิษฐ์ยานยนต์เพื่อการขับขี่ที่สะดวกสบายเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการขับขี่ โดยเห็นได้จากการที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีความปลอดภัยต่างๆ ได้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของผู้ผลิตรถยนต์ทั่วไปในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของคำว่า “ความเป็นเมอร์เซเดสมีอยู่ในรถยนต์ปัจจุบันทุกคัน”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
คมกริช, เยาวเรศ, ศิริพรโทรศัพท์ 02 614-8810-12
หรือ PR Agency เวิรฟ พรทิภา, เบญจพร โทรศัพท์ 02 204 8078, 02 204 8551
ท่านสามารถดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ที่ www.mercedes-benz.co.th
ภาพประกอบข่าว
เบล่า บาเรนญี (Bela Barenyi) ผู้วางรากฐานการสร้างความปลอดภัยให้กับยานยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์
เมอร์เซเดสรุ่น 170 รถยนต์โดยสารคันแรกที่ใช้ระบบเบรคแบบไฮดรอลิค ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น 220 SE ซึ่งอยู่ในซีรีส์ที่มีชื่อว่า “เบนซ์ หางปลา (Fintail)” เป็นซีรีส์แรกในโลกที่ผลิตขึ้นมาพร้อมกับพื้นที่ยืดหยุ่นรับแรงปะทะ (Crumple Zone)
เมอร์เซเดส-เบนซ์ 350 SL ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นยนตรกรรมที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อป้องกันและรับมือกับอุบัติเหตุ
ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS ได้นำมาใช้กับรถยนต์นั่งโดยสารเป็นครั้งแรกในรุ่น S-Class 116-Series ในปี 1978