กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--เบทาโกร
อาหารที่ดูสะอาด ตกแต่งสวย ขายในร้านที่ตกแต่งสวยงามทันสมัย ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะอาจยังมีสารเคมีตกค้างหรือเชื้อปนเปื้อนที่เรามองไม่เห็น กว่าจะรู้ก็เมื่อต้องจ่ายค่าโรงพยาบาลนั่นเอง
เครือเบทาโกรหนึ่งในผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารครบวงจรของไทย ที่รณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำเขียงหมูอนามัยให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดต่างๆ หรือการผลิตอาหารที่สามารถตรวจสอบที่มาและการผลิตได้ทั้งกระบวนการก็ตาม ล่าสุดเพิ่งประกาศเปิดโครงการ “เบทาโกรร่วมสร้างแนวคิดอาหารปลอดภัยเพื่อคนรุ่นใหม่ ปี 2011” ซึ่งเป็นปีที่ 3 และมีขอบเขตกว้างขวางกว่าที่เคยทำมา
โครงการนี้ เบทาโกรได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วไทย 13 แห่ง ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาหารปลอดภัยที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์และจัดการฟาร์ม การแปรรูป ไปจนการบรรจุหีบห่อและการจำหน่ายที่ปลอดภัยทั้งกระบวนการให้แก่นักศึกษาทั้งสัตวแพทย์ สัตวศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ซึ่งจะกลายเป็นบุคลากรที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารและการจัดการอาหารให้ได้คุณภาพและปลอดภัยของไทยต่อไปตั้งแต่ ต้นน้ำถึงปลายน้ำสู่มือผู้บริโภค
นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า “เบทาโกรให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารปลอดภัย และพยายามปลูกฝังนิสัยที่ถูกต้องรวมถึงการสร้างพฤติกรรมที่เสริมสร้างความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเบทาโกรได้นำมาตรฐาน Betagro Quality ซึ่งเป็นการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างจริงจังและสม่ำเสมอทั้งโดยคนของบริษัทฯ และจากสถาบันภายนอกได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันเป็นต้น และได้เผยแพร่ความรู้นี้ออกสู่นอกองค์กร โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่นักศึกษาสัตวแพทย์ สัตวศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารที่เป็นกำลังหลักและสำคัญในการดูแลจัดการอาหารให้ได้คุณภาพ ที่สำคัญคือปลอดภัยตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตเป็นอาหารสำหรับสัตว์ การเลี้ยงดูสัตว์จนถึงการแปรรูปอาหารสู่ผู้บริโภค เพื่อให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานอาหารปลอดภัยของประเทศ
นายวนัสกล่าวเสริมว่า หลังจากจัดโครงการอบรมนักศึกษาที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 2 ปี บริษัทฯ ได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงได้ขยายโครงการให้ครอบคลุมไปถึงนักศึกษาให้มากขึ้นเป็นจำนวนกว่า 2,000 คน นอกเหนือจากนักศึกษาที่ได้รับเลือกให้มาร่วมกิจกรรมเข้าแค้มป์อาหารปลอดภัยจำนวน 70 คน โดยในปีนี้ เบทาโกรได้จัดให้มีกิจกรรม Open House เปิดโอกาสให้เข้ามาศึกษาดูงานในกระบวนการผลิตจริง และเพิ่มกิจกรรม Edutainment ซึ่งเป็นการเรียนรู้เชิงหรรษา โดยจะมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงจากเบทาโกร เข้าไปสอนเรื่องความปลอดภัยในอาหารให้นักศึกษาเหล่านี้ถึงสถาบันด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้รับข้อมูลจากคนที่ทำงานจริง แทนที่จะเรียนจากในตำราอย่างเดียว
ส่วนนักศึกษา 70 คนที่เบทาโกรคัดเลือกมาเข้าแคมป์ ก็จะได้เรียนรู้ทุกแง่มุมในทุกกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ได้เห็นด้วยตาตนเองว่า การผลิตอาหารสัตว์อย่างไรจึงปลอดภัย การเลี้ยง การดูแลสุขภาพสัตว์อย่างถูกต้อง รวมถึงการแปรรูปและบรรจุหีบห่อเพื่อให้อาหารที่ไปถึงปากท้องของผู้บริโภคเป็นอาหารปลอดภัยจริงๆ ไม่มีเชื้อโรคหรือสารเคมีตกค้าง
รศ. น.สพ. ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อ แต่ก็ต้องดูแลสัตว์ที่จะมาเป็นอาหารให้ดี เพื่อให้เรามีอาหารปลอดภัย มีปริมาณเพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้น ทุกวันนี้สัตวแพทย์มักไปดูแลสัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงามมากกว่าสัตว์ที่เป็นอาหาร ทั้งๆ ที่อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่หล่อเลี้ยงชีวิต โครงการนี้นับเป็นการสร้างความเข้าใจและดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถกลับเข้ามาสู่อุตสาหกรรมหลัก ยังจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพและประสบการณ์จริงเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย”
ศ. น.สพ. ดร. มงคล เตชะกำพุ คณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โครงการนี้มีค่ามาก เพราะให้โอกาสนักศึกษาได้เห็นเทรนด์และวิธีปฏิบัติในวงการอุตสาหกรรมอาหารจริงๆ โดยเฉพาะได้เรียนรู้จากผู้นำอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญในเรื่องอาหารปลอดภัยด้วย นับเป็นการได้เรียนรู้ที่สำคัญ”
รศ. ดร. วรรณา ตั้งเจริญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า “ขอขอบคุณเบทาโกรที่แบ่งปันความรู้จากประสบการณ์จริงให้แก่นักศึกษา เพราะสถาบันการศึกษามีความรู้มาก แต่ไม่มีตัวอย่างจริงๆ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสัมผัส การที่นักศึกษาซึ่งจะเป็นกลไกหลักเรื่องอาหารปลอดภัยได้เข้าไปเห็น ทดลองทำ และได้รับประสบการณ์จากคนทำงานจริง จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และเกิดแรงบันดาลใจที่จะใช้ความรู้มาประยุกต์ในโลกของการทำงานจริงในอนาคต”
ขณะเดียวกัน รศ. ดร. สิรี ชัยเสรี คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายเรื่องอาหารปลอดภัยว่า “อาหารปลอดภัยเป็นเรื่องที่ผู้เรียนต้องได้ความรู้ในเชิงปฎิบัติ จึงก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเห็นความสำคัญในการดูแลอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง จึงขอให้เบทาโกรเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสร่วมโครงการดี ๆ แบบนี้ได้มากขึ้นอีก”
รศ. ดร. สุวิมล กีรติพิบูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “การจะสร้างความตระหนักและความรู้เรื่องอาหารปลอดภัยต้องเกิดจากทั้งฝ่ายผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาครัฐ ผู้ผลิตต้องผลิตอาหารที่ปลอดภัยทั้งกระบวนการได้ตามมมาตรฐานสากล ส่วน
ผู้บริโภคเองก็ต้องรู้จักเลือก รู้จักแหล่งจำหน่าย และเข้าใจว่าอาหารปลอดภัยจริงๆ คืออะไร ไม่ใช่แค่ดูสะอาด รสชาติดีเท่านั้น ส่วนภาครัฐจะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็กเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และขยายผลต่อไป โดยเฉพาะโครงการ “เบทาโกรร่วมสร้างแนวคิดอาหารปลอดภัยเพื่อคนรุ่นใหม่ ปี 2011” ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติเรื่องอาหารปลอดภัยได้เกิดความรู้สึกและเห็นด้วยตาตัวเอง จึงเกิดความกระตือรือที่อยากจะเรียนรู้และปฎิบัติจริงต่อไป”
นอกจากจะเน้นการให้การศึกษาและประสบการณ์จริงแก่ผู้ที่ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัยในส่วนต้นน้ำแล้ว ก็ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ปลายน้ำซึ่งก็คือคนไทยทุกคนที่ต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเราเอง
รศ. ดร. สุวิมล ยังกล่าวแนะนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาหารปลอดภัยว่า “การเลือกซื้อเนื้อสัตว์สด ควรดูป้าย clean food good taste ของ กทม. หรือเลือกซื้อจากเขียงในตลาดสดหรือห้างที่มีตราสินค้าที่ได้มาตรฐานและความไว้วางในเรื่องอาหารคุณภาพและความปลอดภัย
ส่วนการเก็บอาหารก็ไม่ควรมองข้าม รศ. ดร. สุวิมล แนะนำว่า อาหารที่รับประทานเหลือ ถ้าอยู่ข้างนอกตู้เย็นนานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องอุ่นให้ร้อนจนเดือดจัด ก่อนบรรจุภาชนะ ปล่อยให้เย็นจึงค่อยเก็บใส่ตู้เย็น อย่าทิ้งไว้ข้างนอกนานเกินไป เพราะสารพิษบางอย่างจะยังคงอยู่ในอาหารแม้เชื้อนั้นจะตายแล้วและอาหารนั้นผ่านการอุ่นด้วยความร้อนจัดอีกครั้งแล้วก่อนเก็บแล้วก็ตาม การเก็บในตู้เย็นนั้น ตู้เย็นต้องเย็นจัด เพราะถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป เชื้ออาจเจริญได้ เมื่อเอาออกจากตู้เย็นมาก็ต้องอุ่นอาหารให้ความร้อนทั่วถึง เช่น ข้าวผัด ต้องทำให้ร่วนก่อน แล้วอุ่นจนร้อนจัดทุกเม็ด หากข้าวยังจับตัวเป็นก้อน ความร้อนจะไม่ทั่วถึงและอาจทำให้เชื้อเจริญขึ้นมาใหม่ได้ แกงก็ต้องอุ่นจนเดือดพล่าน ส่วนตู้เย็นก็ต้องทำความสะอาดเป็นประจำ เพราะสามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะเชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส (Listeria manocytogenese) ซึ่งโตช้าแต่อันตรายถึงชีวิต แม้แต่คนท้องก็แท้งได้ ยิ่งเวลาทำความสะอาดละลายน้ำแข็งในตู้เย็น หากเชื้อนี้อยู่ในน้ำแข็งที่กำลังละลายและหยดลงไปในอาหารก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทั้งภาคเอกชนและภาคการศึกษาในการให้ความรู้แก่นักศึกษาที่จะเป็นหลักในส่วนการผลิต และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนต่อไป คงจะทำให้มาตรฐานความปลอดภัยในอาหารของไทยมีความหวัง และมีการพัฒนาไปอย่างแน่นอน