ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย RoboCup Thailand Championship

ข่าวกีฬา Monday January 26, 2004 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย (RoboCup Thailand Championship ) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สองนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่าเพื่อให้เกิดความชำนาญทางด้านกลไกอิเล็กทรอนิกส์และการประกอบหุ่นยนต์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติ โดยทีมชนะเลิศจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ชิงแชมป์โลก (RoboCup 2004) ที่ประเทศโปรตุเกส ในกรกฎาคมศกนี้ ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับพวกเขาในการศึกษาการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีตลอดจนองก์ความรู้ทางด้านหุ่นยนต์จากประเทศอื่นและนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาในอนาคต
ทั้งนี้ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 จากความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
กติกาการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย รอบชิงชนะเลิศ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
โจทย์ : ให้หุ่นยนต์เตะลูกฟุตบอลเข้าประตูให้มากที่สุด ภายในระยะเวลา 20 นาที
ลักษณะการแข่งขัน
1. แต่ละทีมต้องมารายงานตัว ณ เช้าวันแข่งขัน ตามที่คณะกรรมการจะประกาศให้ทราบ ผู้ที่ไม่มาลงทะเบียนตามเวลาที่กำหนดจะถูกตัดสิทธิจากการแข่งขัน
2. แต่ละทีมจะมีเวลาในการติดตั้งกล้องและเตรียมตัวก่อนการแข่งขัน 20 นาที
3. ลูกบอลที่ใช้เป็นลูกกอล์ฟสีส้ม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 43 มม. น้ำหนักประมาณ 46 กรัม
4. หุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขัน แต่ละผ่ายจะมีไม่เกิน 5 ตัว รวมทั้งหุ่นรักษาประตูด้วย (ก่อนแข่งขันต้องแจ้งให้กรรมการทราบว่าหุ่นตัวไหนเป็นผู้รักษาประตู) และต้องมีหมายเลขติดที่ตัวหุ่นยนต์
5. รูปร่างของหุ่นยนต์ต้องสามารถบรรจุลงในทรงกระบอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ซม. ได้ และถ้าตัวหุ่นมี การติดกล้องจะสูงได้ไม่เกิน 23.5 ซม. แต่ถ้าไม่ได้ติดกล้องจะสูงได้ไม่เกิน 15 ซม.
6. การติดต่อสื่อสารแบบไร้สายกับคอมพิวเตอร์ที่อยู่นอกสนามโดยไม่จำกัดจำนวนคอมพิวเตอร์
7. ระบบการมองเห็นแบบโกลบอล ให้ติดตั้งกล้องเข้ากับคานสำหรับติดตั้งกล้องที่อยู่เหนือสนามไม่จำกัดจำนวนกล้อง
8. การทำคะแนน การทำประตูเกิดขึ้นเมื่อลูกบอลข้ามเส้นประตูทั้งลูกและลูกบอลอยู่ระหว่างกำแพงประตู ด้านข้างและอยู่ใต้คานประตู (ที่สมมุติขึ้น) และฝ่ายที่ทำประตูไม่ได้ทำผิดกติกา ณ ขณะนั้น
9. การชนะการแข่งขัน ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าในการแข่งขันเป็นผู้ชนะ ผลการแข่งขันถือว่าเสมอกันถ้าทั้งสองทีมทำประตูได้เท่ากันหรือไม่มีการทำประตู ในกรณีที่ผลการแข่งขันเสมอกัน คณะกรรมการอาจต่อเวลาหรือใช้วิธีอื่นเพื่อหาผู้ชนะ
10. การตัดสินของคณะกรรมการตัดสินให้ถือเป็นที่สุด
ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย รอบชิงชนะเลิศ คณะกรรมการจัดงานได้เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเข้าร่วมเป็นกรรมการ ตัดสินซึ่งประกอบด้วย
1. รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและอาจารย์ประจำภาควิชา เมคาโทรนิกส์ คณะเทคโนโลยีชั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
2. รองศาสตราจารย์ ดร. มงคล มงคลวงศ์โรจน์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ชิงแชมป์ประเทศไทย 2546 อุปนายกฝ่ายวิชาการของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม เลขานุการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและอาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
4. ดร. สยาม เจริญเสียง กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและอาจารย์ประจำ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5. ดร. ณัฐวุฒิ เดไปวา กรรมการฝ่ายอบรมและสัมมนาสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
6. ดร. อุนนัต พิณโสภณ กรรมการฝ่ายอบรมและสัมมนาสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
7. ดร. พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ กรรมการฝ่ายประชุมวิชาการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
8. ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ กองบรรณาธิการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันประเภทต่าง ๆ มีจำนวน 4 รางวัล คือ ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (RoboCup 2004) ที่ประเทศโปรตุเกส ทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 8 ทีมจะได้รับรางวัลทีมละ 20,000 บาท
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2546 (RoboCup Thailand Championship 2003) ได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย www.trs.or.th
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อคุณขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัท ซีเกทฯ โทร. 0-2715-2919 หรือคุณวัชรี พิชัยศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาทางด้านประชาสัมพันธ์ โทร. 0-2720-3397--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ