กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--โฟร์ พี แอดส์ (96)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำรวจคุณภาพน้ำประปา พบปลอดภัย ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน พร้อมสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้และน้ำแข็งจากพื้นที่ในจังหวัดน้ำท่วม ทั่วประเทศ แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำแข็งในช่วงน้ำท่วมเพราะเสี่ยงอาจเป็นโรคทางเดินอาหารได้
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการเกิดอุกทกภัยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่และน้ำท่วมเอ่อล้นมายังคลองประปา ซึ่งเป็นคลองที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปา ส่งผลให้ประชาชนไม่มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำประปา ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับการประปานครหลวงส่งทีมไปเก็บตัวอย่างน้ำประปาจำนวน 10 ตัวอย่าง โดยเก็บจากการประปานครหลวง บางเขน 4 ตัวอย่างและเก็บตามบ้านประชาชนโดยไม่ผ่านปั๊มน้ำ หรือเครื่องกรองในกรุงเทพฯ (เขตหลักสี่ ลาดพร้าว
บางซื่อ) และอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี จำนวน 6 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจสอบคุณภาพน้ำพบว่าผ่านเกณฑ์ ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน นอกจากนี้ได้มีการตรวจวิเคราะห์ทางกายภาพ เคมี โดยตรวจโลหะหนัก ไนเตรทและยาฆ่าแมลงในน้ำประปาที่การประปานครหลวง บางเขน ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภคขององค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำแข็ง และน้ำประปา ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ประสบอุกทกภัยในจังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี และนครปฐม รวม 78 ตัวอย่าง พบว่า ในน้ำดิบและน้ำผ่านการบำบัดในพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลกพบโลหะเหล็กสูง ซึ่งจะมีผลทำให้น้ำมีความกระด้าง มีสีและรสเปลี่ยนไปจากปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำดื่ม น้ำแข็ง และเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง มีผลไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพรวม 28 ตัวอย่าง โดยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม อี.โคไล ที่บ่งชี้ว่าน้ำและน้ำแข็งไม่สะอาด โดยเฉพาะน้ำแข็งที่ตรวจพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่อาจทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร ได้แก่ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส 6 ตัวอย่าง คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ในทุกตัวอย่าง และซาลโมเนลลา 1 ตัวอย่าง อีกทั้งเครื่องดื่มผสมน้ำแข็งยังตรวจพบซาลโมเนลลาด้วย
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนประชาชนเกี่ยวกับการบริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็ง โดยให้หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำแข็งหรือเครื่องดื่มที่ผสมน้ำแข็ง และเลือกดื่มน้ำที่สะอาดเชื่อถือได้ เช่น น้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. น้ำผ่านเครื่องกรองที่มีประสิทธิภาพดี หรือน้ำต้มเดือด หากดื่มน้ำแล้วรู้สึกมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือใจสั่น ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญผู้ที่ไม่ได้ดื่มน้ำเป็นเวลานานหรือเสียน้ำในร่างกายมาก เมื่อได้ดื่มน้ำไม่ควรดื่มทีละมากๆ ต้องค่อยๆ ดื่ม เพราะหากดื่มน้ำเร็วเกินไป อาจทำให้เป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง หมดแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต และความดันโลหิตสูงอาจเกิดอันตราย อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้วางแผนดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยภายหลังน้ำลด โดยจัดโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะดำเนินการตรวจวิเคราะห์น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคน้ำและน้ำแข็งที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน