กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--เอสซีจี
ในช่วงเวลาที่ “วารี” ไม่ปรานีใคร สาวน้อยสาวใหญ่ ยังจมอยู่กับความเครียด บ้างก็ยังลังเลกับการตัดสินใจ ย้าย—ไม่ย้าย กระสอบทรายจะเอาอยู่มั้ย มาม่าที่ตุนไว้จะพอถึงเมื่อไหร่ ฯลฯ
แต่คงไม่ใช่ดอกไม้เหล็ก หรือหญิงแกร่งคนนี้ ที่น่าปรบมือให้ดังๆ เพราะเธอตัดสินใจเก็บรองเท้าส้นสูงไว้ที่บ้าน (ชั้น 2 ตามคำแนะนำของรัฐบาล) แล้วสวมบูททหารออกมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่ชายอกสามศอก ในนามของ “ทีมกู้ภัย” ช่วยย้ายคนอพยพหนีน้ำ ด้วยจิตอาสาอันแรงกล้า
คุณประไพ ปลอดโปร่ง หรือ “ปู” ทำงานอยู่ในโรงงานปูนซีเมนต์ของเอสซีจี หรือเครือซิเมนต์ไทย ที่จังหวัดสระบุรี เธอเคยเป็นประธานค่ายอาสาพัฒนาเอสซีจีติดต่อกันถึง 3 ปี เคยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ พนักงานทำโครงการปันโอกาสวาดอนาคต ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทส่งเสริมให้พนักงานไปทำกิจกรรม จิตอาสาโดยออกทุนทรัพยให้ และปัจจุบัน ยังได้ก่อตั้ง กลุ่มเพื่อนอาสาเอสซีจี ซึ่งเป็นเครือข่ายของพนักงานที่รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยทุนทรัพย์ส่วนตัว เพราะถือว่า “เอสซีจีคือหม้อข้าวหม้อแกงของพวกเรา”
ประไพเล่าให้ฟังว่า หลังจากน้ำเริ่มจะเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ บริษัทฯ ก็ประกาศปิดสำนักงานใหญ่ ที่บางซื่อ ให้พนักงานได้ดูแลครอบครัว และเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมได้ทัน แต่ก็ต้องไม่ลืมทำงานส่งมาจากที่บ้านด้วย ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็เปิดศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือพนักงาน และประกาศรับสมัครพนักงานจิตอาสาช่วยงานที่ศูนย์ฯ เธอกับสามี จึงตัดสินใจเดินทางมาจากสระบุรีทันที โดยฝากลูก 2 คนไว้กับคุณอา ด้วยใจเต็มร้อยที่จะช่วยผู้ประสบภัย
“ในศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือพนักงาน มีงานที่แบ่งกระจายกันอยู่หลายหน้าที่ ส่วนใหญ่ ผู้หญิงจะไปช่วยงาน Call Center คือรับสายแจ้งเหตุ ช่วยปลอบโยนผู้ประสบภัย หรือไม่ก็ช่วยประสานงานความช่วยเหลือต่างๆ เช่น จัดหาที่พัก ที่จอดรถ อุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม ถุงยังชีพ เสื้อชูชีพ ที่นอนหมอนมุ้งต่างๆ แต่พี่เลือกที่จะไปช่วย งาน “ทีมกู้ภัย” เพราะเราอยากไปบุกน้ำ ลุยโคลน ช่วยเพื่อนพนักงานที่เดือดร้อน”
หลายคนสงสัยว่า งานอพยพผู้ประสบภัย เป็นงานหนักที่ผู้ชายกล้ามโตๆ ยังแทบแย่ แล้วผู้หญิง ตัวไม่ใหญ่ไม่เล็กอย่างประไพ จะ ’เอาอยู่’ ได้อย่างไร?
เธอยืนยันว่า ไม่เลย ตรงกันข้าม งานของเธอไม่ต้องออกแรงมากเท่าผู้ชาย แต่เธอได้ช่วยงานที่เธอมีความถนัด ซึ่งทำให้ทีมทำงานได้สะดวกและเร็วขึ้น
ประไพ เล่าว่า “ในการทำงาน พวกเราจะขับรถโฟร์วีล บรทุกเรือ และข้าวของออกไปกันเป็นทีม ทีมละประมาณ 7-8 คน ซึ่งนอกจากพี่แล้ว ในทีมเป็นผู้ชายทั้งหมด หน้าที่หลักของพี่ คือ เป็น Navigator ให้กับทีมในพื้นที่บางกรวย คอยแนะนำเส้นทางเข้าออกที่สะดวกที่สุด ให้ข้อมูลว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ราบต่ำ หรือมีคลอง มีบ่อ ซึ่งช่วยให้ทีมเดินทางกันได้สะดวก ไม่หลงทาง เมื่อถึงจุดหมาย ผู้ชายในทีมก็จะแยกไปช่วยผู้ประสบภัย ส่วนพี่ก็จะไปช่วยเหลือชุมชนในบริเวณใกล้เคียงโดยเอา ถุงยังชีพ สุขากระดาษ ไปมอบให้เขา รวมทั้งช่วยเคลียร์พื้นที่บนรถให้โล่ง เมื่อทีมงานและผู้ประสบภัยขนสัมภาระกันออกมา ก็ช่วยขนของ จัดที่นั่งให้สะดวก และออกเดินทางกันได้เลย”
งานกู้ภัยให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้ใช้แค่แรงกายเสมอไป แรงใจ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยฉุดผู้ประสบภัยให้ลุกขึ้นมายืนหยัดสู้ต่อไปได้ ซึ่งหน้าที่นี้ “ผู้หญิง” น่าจะทำได้ดีที่สุด
“ความที่เป็นผู้หญิง ก็มีข้อได้เปรียบนะคะ เรามีส่วนช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อมีเด็ก ผู้หญิง คนชรา พี่จะช่วยดูแล พูดให้กำลังใจ ให้พวกเขาคลายความวิตกกังวล เพราะในเวลานี้ กำลังใจ คือ สิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องการมากที่สุด” ประไพกล่าวอย่างปลาบปลื้มใจ
“มีครั้งหนึ่ง ไปเจอคุณยายที่เป็นโรคเบาหวาน หมอนัดไปตัดขาที่เป็นแผลเน่าก่อนที่แผลจะลุกลามไปมากกว่านี้ แต่เผอิญน้ำท่วมเสียก่อน เลยไปหาหมอไม่ทันและติดค้างอยู่ที่บ้าน เราเข้าไปเจอ ก็รีบช่วยคุณยายออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจมาก รู้สึกว่าเราได้ช่วยชีวิตคน งานของเราเป็นงานที่มีคุณค่ามาก” เธอย้ำว่า “ความเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเลย ขอเพียงมีใจสู้ แต่ต้องประมาณตัวเอง และต้องรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่เข้าไปใกล้เสาไฟฟ้า หรือจุดที่เสี่ยงต่อการโดนไฟฟ้าช็อต”
เมื่อถามว่าที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง ก็ได้รับคำตอบแบบชิลล์ ๆ ว่า “น้ำท่วมไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ทั้งที่บ้านของตัวเองที่บางกรวย บ้านของแม่ที่สุพรรณบุรี และบ้านแม่สามีที่อยุธยา พร้อมกับสายน้ำ”
แม้คำตอบของประไพจะทำให้อึ้งไปเล็กน้อย แต่สีหน้าและแววตาของเธอ ไม่ได้แสดงถึงความเครียด หรือสลดหดหู่ กับทรัพย์สินที่จมน้ำไปแม้แต่น้อย มีแต่สายตาที่มุ่งมั่น ฉายแววของความ เป็น “สตรีจิตอาสา” หรือ นารีที่เป็นแบบอย่างที่ดีกับสังคมไทยในวันนี้
น่าชื่นใจ ที่ได้เห็นดอกไม้เหล็ก เบ่งบานชูช่อในสายน้ำที่ไหลเชี่ยว ขอยกนิ้วให้ และเป็นกำลังใจให้ประไพสู้ต่อไป กับกับภารกิจช่วยเพื่อนพนักงานผู้ประสบภัย และภารกิจกู้บ้าน หลังน้ำลด…
“สู้สู้” ค่ะ