กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.47) เวลา 12.45 น. นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายตลอด จรูญรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการกองปกครองและทะเบียน กทม. และนายสมชัย สุรกาญจน์กุล หัวหน้ากลุ่มงานเลือกตั้ง กองปกครองและทะเบียน กทม. ร่วมกันแถลงข่าว “พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 116 เรื่อง สาระสำคัญของกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่
กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2547 เวลา 08.00 - 15.00 น. โดยจะเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ในวันที่ 26 - 30 ก.ค. 47 รวม 5 วัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจาก นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (คนปัจจุบัน) ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.43 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในวันที่ 22 ก.ค.47 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะเป็นผู้เข้ามาควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลบังคับใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.46 โดยในส่วนกรุงเทพมหานครจะมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายการเลือกตั้งฉบับใหม่ที่เกี่ยวกับการเลือตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการแก้ไขรายละเอียดสำคัญซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายฉบับเดิม อาทิ ผู้มีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตปกครองท้องถิ่นที่รับสมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือ ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจากเดิม 180 วัน สำหรับค่าสมัครในการหาเสียงเลือกตั้ง กฎหมายใหม่กำหนดค่าสมัครไว้ 50,000 บาท จากเดิม 5,000 บาท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งจากเดิม 21 ล้านบาท แต่กฎหมายใหม่ยังไม่ได้กำหนดไว้เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกกต. นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังห้ามมิให้ดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง อาทิ การจัดมหรสพ การเสนอให้เงินและทรัพย์สิน หรือในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อลงคะแนนให้ผู้สมัครฯ ก่อนวันครบวาระของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 60 วัน ( 22 พ.ค.47) อีกทั้งคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะไม่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ดังนั้นชาวกรุงเทพมหานครทุกคนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ (เกิดก่อน 3 ม.ค.2529) มีหน้าที่ไปเลือกตั้ง หากไม่ไปต้องยื่นคำร้องแจ้งสาเหตุต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานเขตท้องที่ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน จะเสียสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาทิ การเข้าร้องชื่อขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ได้กำหนดให้พิมพ์บัตรเลือกตั้งเป็นเล่ม โดยผู้เลือกตั้งจะต้องลงชื่อในต้นขั้วบัตรหรือพิมพ์ลายนิ้วมือลงบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และฉีกบัตรออกจากต้นขั้วเพื่อลงคะแนน จากนั้นจึงพับบัตรเลือกตั้งก่อนนำไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง เมื่อถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งจะนำหีบบัตรไปที่เขตปกครองเพื่อนับคะแนนและส่งผลการนับคะแนนมารวมยอดคะแนน ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หรือ สถานที่อื่นตามความเหมาะสม
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4 ล้านคน ดังนั้นขอให้ทุกท่านไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากกว่าครั้งที่แล้ว เมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 58.87 เพื่อให้ได้ผู้ที่เหมาะสมจะมาทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ชาวกรุงเทพฯ อีกทั้งกำกับดูแลการบริหารกิจการบ้านเมืองเพื่อประโยชน์สุขและความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไป--จบ--
-นห-