กองทุนฯ ร่วมกับ กฟผ. ใช้แกลบ ผลิตน้ำเย็น เพาะเห็ดในสวนจิตรลดา

ข่าวทั่วไป Tuesday January 27, 2004 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--คิธแอนด์คิน
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้ความร้อนจากแกลบ เพาะเห็ดในสวนจิตรลดา ตั้งเป้าหมายประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละกว่า 3 แสนบาท
นายวิศิษฐพร เผื่อนพิภพ ผู้แทนโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเพาะเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดหอม เห็ดนางรมหลวง เห็ดโคนหลวง เห็ดเข็มทอง และอื่นๆ ได้ใช้เครื่องทำความเย็นแบบอัดไอ (Vapour Compression Refrigeration Machine) เพื่อทำความเย็นและควบคุมสภาวะแวดล้อมในโรงเพาะเห็ด ซึ่งเป็นระบบที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงานสูงถึงปีละ 669,600 บาท นอกจากนี้ยังใช้สารทำความเย็น ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษที่ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมด้วย
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ให้การสนับสนุนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำโครงการจัดตั้งระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ สำหรับโรงเพาะเห็ด โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อทำการสาธิตการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เผยแพร่เทคโนโลยีให้กับเกษตรกร นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เพื่อไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวงเงินรวม 11 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เวลาในการสาธิตและพัฒนาระบบประมาณ 1 ปี โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละประมาณ 124,000 หน่วย หรือคิดเป็นเงินประมาณ 310,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าประมาณปีละ 93 ตัน และลดปัญหาการกำจัดแกลบได้ประมาณ ปีละ 500 ตัน
สำหรับระบบผลิตน้ำเย็นเริ่มจากการลำเลียงแกลบเข้าเตาเผาแบบไซโคลนคู่ (Double Cyclonic Husk Furnace) เพื่อให้ความร้อนอุณหภูมิระหว่าง 400-500 องศาเซลเซียส ที่ปราศจากควัน กลิ่น และฝุ่นละออง แก่เครื่องกำเนิดน้ำร้อน (Hot Water Generator) เพื่อผลิตน้ำร้อนอุณหภูมิระหว่าง 90-95 องศาเซลเซียส ต่อมาจ่ายน้ำร้อนให้กับเครื่องทำความเย็นแบบดูดซึมชนิดใช้น้ำร้อน (Hot Water Fired Absorption Chiller) เพื่อผลิตน้ำเย็นอุณหภูมิประมาณ 7 องศาเซลเซียส เพื่อทำความเย็นให้กับห้อง เพาะเห็ด แบบควบคุมสภาวะแวดล้อม และปรับอากาศให้กับอาคาร
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 0 2612 1555 ต่อ 201-5 โทรสาร 0 2612 1368
121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.eppo.go.th--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ