ลิ่มสลักใจ...ในยามอุทกภัยวิบัติ

ข่าวทั่วไป Thursday November 17, 2011 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ลิ่มสลักใจ...ในยามอุทกภัยวิบัติโดย ดร. นิเวศน์ วงศ์สุวรรณผู้อำนวยการสำนักสามัญศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ท่านผู้อ่านทั้งหลายครับ ประวัติศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง หากความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในจิตใจคนเกิดขึ้น ณ ที่ใด ความวินาศยิ่งกว่ามหาอุทกภัยย่อมจะเกิดขึ้น ณ ที่นั่น เสมือนต้นไม้ใหญ่แม้จะมีเนื้อแข็งขนาดไหนแต่หากถูกแมลงซอนไซกัดแทะภายใน ไม่นานก็ล้มครืนทั้งต้นได้ คำว่า “ลิ่มสลักใจในยามอุทกภัยวิบัติ” คือ ความรู้รักสามัคคีในหมู่พี่น้องชาวไทยในชาติ มิใช่เป็นเพียงแค่ควรกระทำควรใส่ใจเท่านั้น, แต่ ... หากเป็นหน้าที่ในจิตสำนึกที่เราทุก ๆ คนภายใต้สถาบันหลักทั้งสาม คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จักต้องกระทำ ต้องปกป้อง ต้องใส่ใจ และต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นภาพลักษณ์แห่งลิ่มสลักใจ คือ ความรักความสามัคคี ดังบทบาลีที่ว่า สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข หากพวกเราทุกเพศทุกวัยแต่ละคนเปรียบเสมือนแขนงไม้ที่มัดรวมตัวกันอยู่ ก็ยากแก่การทำลาย แต่หากแขนงไม้เหล่านี้ถูกจับแยกกันแล้วไซ้นั่นก็ไร้ความแข็งแรง มีหลากหลายแหล่งข่าวตามสื่อต่าง ๆ และประจำหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ มีข่าวการประท้วง ด่าทอต่อว่ากันด้วยถ้อยคำที่ผรุสวาส สาดเทเสียดสีย่ำยีบีฑากันด้วยกำลังกาย ปล้นจี้ลักขโมยข้าวของซ้ำเติมผู้เสียหายจากอุทกภัย ก่อกวนสร้างสถานการณ์เข่นฆ่าประหัตประหารผู้บริสุทธิ์ เห็นชีวิตเพื่อนมนุษย์เหมือนผักปลา ไล่ล่าเป็นเสมือนแดนมิคสัญญี เหตุการณ์เหล่านี้ใครควรจะเป็นผู้แก้ไข, รัฐบาล, ทหาร, ตำรวจหรือพวกเรา ทุก ๆ คนจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขในยามประสบกับมหาอุทกภัยวิบัติ ด้วยการสร้างจิตสำนึกเป็น “ลิ่มสลักใจของคนในชาติ” อาทิเช่น ๑.เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ไม่ทรยศต่อชาติ รักและหวงแหนอธิปไตยของชาติไว้ ด้วยความสำนึกและรับผิดชอบระบอบประชาธิปไตย ไม่ประมาทมัวเมาหลงใหลในคำยุยงส่งเสริมจากผู้ไม่หวังดี รับผิดชอบหน้าที่ เลี้ยงชีวีด้วยสัมมาชีพเป็นที่ตั้ง เชื่อฟังเคารพในคำสั่งกฎเกณฑ์กติการะเบียบและกฎหมายของบ้านเมือง ดังคำบาลีที่ว่า “สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา” การมีความสามัคคี ทำงานเป็นทีม คือ ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและความมั่นคงของชาติบ้านเมืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปในฐานะพลเมืองไทย เราจะยอมสิ้นชาติหรือจะสร้างชาติ ๒.เป็นศาสนิกที่ดีของศาสนา เพราะศาสนา คือ ที่ยึดเหนี่ยวทางใจของคนที่พัฒนาตนเอง ดังคำกลอนที่ว่า “เป็นมนุษย์ เป็นเพราะมีจิตใจสูง เหมือนนกยูงมีดีที่แววขน ถ้าใจต่ำเป็นได้เพียงแต่คน ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา” ตามหลักคำสอนและหลักเหตุผลทางศาสนา ถ้าทำผิดกฎหมายจะถูกจำคุกในเรือนจำ แต่ถ้าทำผิดศีลธรรมจะถูกจำคุกในเรือนใจ เพื่อให้ชีวิตสุขสดใสในสามัคคีต้องเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนาดังคำปราชญ์ที่ว่า “พุทธัง ทำให้แจ้ง ธัมมัง ให้จำ สังฆัง ชักนำให้สว่าง สร้างทางแห่งการเจริญปัญญา มาสร้างความดี หลีกหนีความชั่ว ทำตัวให้มีจิตใจที่บริสุทธิ์ และอดทนด้วยความไม่ประมาท” ตามหลักแห่งปัจฉิมโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓.เป็นพสกนิกรที่ดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทด้วยความจงรักภักดีภายใต้พระบารมีและพระบรมโพธิสมภารของในหลวง เพราะพระองค์ คือ จอมทัพ, จอมใจ และจอมธรรม ดำรงสถิตมั่นในทศพิธราชธรรม ทรงนำความสงบสุขร่มเย็นความเจริญเติบโตด้วยพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริ เพื่อมวลพสกนิกรชาวไทยอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยอย่างต่อเนื่อง พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย เย็นศิระเพราะพระบริบาล ทรงงานและทรงนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญอย่างผาสุกโดยแน่แท้ ท่านผู้ร่วมชะตากรรมอุทกภัยที่รักทั้งหลายครับ “ลิ่มสลักใจ คือ การรู้รักสามัคคี ทำดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” คือ หลักปฏิบัติง่าย ๆ ที่ว่า “โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน และวางตนเหมาะสม” เป็นคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในความสงบสุข มีความรักและความสามัคคี คือ สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ คือ ๑.ทาน หมายถึง การแบ่งปัน เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่กลัวเสียเปรียบ ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก อันเป็นการสร้างสามัคคีอันดีอย่างยิ่งยวด เช่น ให้ปัจจัย ๔ ให้อามิสสิ่งของ ให้ที่พักพาอาศัย หรือให้อย่างอุกฤษฏ์ คือ ให้อภัยทาน อันเป็นการกำจัดความมัจฉริยะตระหนี่ จะมีอานิสงส์พรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติและบริวารสมบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ๒.ปิยวาจา หมายถึง การเจรจาด้วยมธุรสพจนีที่มีประโยชน์ เป็นคำจริงไพเราะเหมาะสมทั้งเหตุผลและเหมาะสมกาลเวลา ตามแนวดำรัสพระสุคตที่ว่า “วาจาใดไม่จริง ไม่เหมาะสมตามกาลเวลา พระศาสดาจะไม่ตรัส แต่วาจาใดทั้งจริงและเหมาะสมตามกาลเวลา พระศาสดาจะทรงพิจารณาก่อนแล้วจึงตรัส เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขและสามัคคีเป็นปริโยสาน” ๓.อัตถจริยา หมายถึง การทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองสังคมประเทศชาติด้วยความไม่ประมาท ไม่ปราศจากหลักแห่งความดีและความสามัคคี คือ หลักแหล่ง-หลักฐาน-และหลักธรรม ดำเนินชีวิตชนิดที่ว่าไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป ไม่ล้ำหรือล้าสมัยมากจนเกินไป ให้มีความพอดีตามวิถีแห่งทางสายกลาง รู้จักอดทนและอดกลั้นในยามวิกฤต ก็จักเป็นส่วนแห่งความรักและความสามัคคีได้ในหลักที่ว่า “ผู้ใหญ่ช่วยดึง ผู้น้อยช่วยดัน และผู้เสมอกันช่วยประคับประคอง” ๔.สมานัตตา หมายถึง การวางตนเองเสมอต้นเสมอปลาย คือไม่ซ้ายจัดขัดขวางและขวาจัดจนหลุดขอบ มีความสำนึกและรับผิดชอบต่อหน้าที่ เปี่ยมด้วยแรงแห่งกตัญญูกตเวทีต่อบุพพการีที่เป็นปิยชนทั้งบุคคล, สถานที่, สถาบันชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ไม่อกตัญญู ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นสร้างราคินเป็นความขัดแย้ง ไม่ขุดนายขายเพื่อน ไม่แปดเปื้อนอบายมุขทุกชนิด ตั้งกัลยาณจิตผูกมิตรไมตรีด้วยมีหลักสังคหวัตถุธรรมที่ ๔ ดังกล่าว มาเป็นลิ่มสลักใจ น้อมนำพระบรมราโชวาท รู้รักสามัคคี ทำดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยหลักการ-หลักเกณฑ์-และหลักธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ความสุขความถ้อยทีถ้อยอาศัยก็จะปรากฏเป็นสันติสุข สันติภาพ เอกภาพ ภราดรภาพและเสถียรภาพที่ดีงามคู่สังคมไทยเป็นลิ่มสลักใจที่น่าประทับใจตลอดไป สรุปว่า “ลิ่มสลักใจ” คือ “ความรู้รักสามัคคี โอบอ้มอารี มีวจีไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน และวางตนเหมาะสม” ก็ปรากฏเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ภายใต้การอำนวยการและบริหารงานของท่านอธิการบดี พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช กระผมก็ขออัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ มาฝากไว้ว่า “เมืองใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล แม้ชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะอยู่สุขได้อย่างไร” ฝากไว้ เป็นลิ่มสลักใจในยามอุทกภัยเช่นนี้ ดีไหมครับ ?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ