ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” ที่ระดับ “A+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 17, 2011 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม”Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับระดับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. เนื่องจากได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 แม้ว่าโครงสร้างคณะกรรมการของ บตท. จะได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อรองรับพันธกิจ แต่อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. ก็มีข้อจำกัดจากการมีประวัติผลงานตามพันธกิจในช่วงสั้น ๆ เนื่องจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในไม่เพียงพอ และต้นทุนดำเนินงานที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารชุดใหม่ของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากธนาคารกสิกรไทยได้ตามแผน รวมทั้งสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากนี้ ยังคาดว่า บตท. จะได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลในการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อให้มีอุปสงค์ด้านหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันโดยสินเชื่อซื้อบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งภารกิจต่าง ๆ ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาตลาดรองสินเชื่อของประเทศไทยในอนาคต ทริสเรทติ้งรายงานว่า บตท. ก่อตั้งปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมที่ดิน ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมอีก 4 ตำแหน่ง และกรรมการผู้จัดการของ บตท. ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้านแล้วนำสินเชื่อที่อยู่อาศัยมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังและขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นปัจจัยจำกัดศักยภาพการเติบโตของ บตท. เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพียงพอและมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแรง ดังนั้นจึงเลือกที่จะเก็บพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยเอาไว้เอง นอกจากนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังสร้างผลตอบแทนที่สูงและมีน้ำหนักความเสี่ยงที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อเพื่อการบริโภคและอุปโภคและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ บตท. มีเงินลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ โดยเพิ่มจาก 350 ล้านบาทในปี 2542 เป็น 4,520 ล้านบาทในปี 2548 อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 2548 บตท. ได้ตรวจพบความผิดปกติในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยและได้ทำการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในปี 2549 และ2550 พร้อมทั้งยุติธุรกรรมการจัดซื้อพอร์ตสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดเงินลงทุนหลังการขายหนี้เสียลดลงจาก 4,520 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 1,997 ล้านบาทในปี 2550 ในปี 2550 และ 2551 บตท. ได้ปรับปรุงขั้นตอนการซื้อสินเชื่อ รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบการบริหารงาน และพัฒนาระบบงานภายใน ในปลายปี 2550 บตท. ได้แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ รวมทั้งแต่งตั้งผู้จัดการในตำแหน่งสำคัญ ๆ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา บตท. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศ ระบบบริหารความเสี่ยง และระบบควบคุมภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการในระยะยาวด้วย ในขณะที่พอร์ตเงินลงทุนในสินเชื่อนั้นคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการให้บริการสินเชื่อและการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อตามแผนการขยายธุรกิจเช่นกัน ในปี 2553 บตท. ร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร 3 แห่งในการเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ซึ่งได้สร้างยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 170 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 330 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2554 อย่างไรก็ตาม โครงการความร่วมมือระหว่าง บตท. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ในการโอนขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ บตท. ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ในปี 2553 จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของ บตท. ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1,768 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 1,626 ล้านบาทในปี 2552 และ 1,543 ล้านบาทในปี 2553 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1,572 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2554 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจากโครงการความร่วมมือกับสถาบันการเงินพันธมิตร เมื่อเร็ว ๆ นี้ บตท. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อซื้อสินเชื่อมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาทจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ภายในปี 2554 ซึ่งคาดว่ายอดสินเชื่อของ บตท. จะขยายตัวมากยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่งผลทำให้ บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาทในปี 2549 และ 120 ล้านบาทในปี 2548 ภายหลังจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ก็ลดลง โดยลดลงจาก 39.8% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 6.9% ในปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 8.9% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นมากถึง 16% ในปี 2553 และเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 4.8% สำหรับธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และ 5.8% สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง อย่างไรก็ตาม 60% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นสินเชื่อที่จัดซื้อมาในปี 2547 ในขณะที่ 2% เป็นสินเชื่อที่ซื้อมาในปี 2552 และปี 2553 ในปี 2551 บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 และการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน สำหรับครึ่งแรกของปี 2554 กำไรสุทธิของบริษัทฟื้นตัวขึ้นเป็น 8.7 ล้านบาทจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากความสามารถในการดำรงคุณภาพสินทรัพย์ ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (77% ของเงินทุนรวม) บตท. มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 3.2% สำหรับครึ่งแรกของปี 2554 (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) เทียบกับอัตราเฉลี่ย 2.4% ในปี 2553 บตท. ยังถือว่ามีต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่สามารถรับเงินฝากจากประชาชนได้ ซึ่งทำให้ บตท. ไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อระยะยาวอัตราดอกเบี้ยคงที่ให้แก่ผู้ต้องการซื้อบ้านในอัตราที่จูงใจได้ ทริสเรทติ้งกล่าว บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ