กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--พม.
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำให้มีพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้พิการและผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้วางหลักเกณฑ์การบรรเทาทุกข์ เรื่องการสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ซึ่งหัวหน้าครอบครัวประสบภัยพิบัติจนเสียชีวิต ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๑ โดยตามภารกิจของพม.เกี่ยวข้องในด้านสังคมสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้ประสบภัย ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ซึ่งหัวหน้าครอบครัวประสบภัยพิบัติจนเสียชีวิต พิการ หรือบาดเจ็บ และไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น (ได้แก่ รถเข็น รถโยก ไม้เท้า หรือสิ่งช่วยคนพิการโดยตรงอย่างอื่น และอุปกรณ์เสริมพิเศษ เช่น แว่นตา เครื่องช่วยฟัง เป็นต้น) ได้ในกรณีเร่งด่วนตามความเหมาะสมและจำเป็น ครอบครัวละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท และ ช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตเฉพาะหน้าแก่นักเรียน นักศึกษา ที่บิดา มารดา หรือผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือผู้มีรายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัวเสียชีวิตจากภัยพิบัติ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียน การศึกษา ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท และค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าพาหนะเดินทางไปสถานศึกษา คนละ ๕๐๐ บาท/ ๑ ภัย หรือ ๑ เหตุการณ์ โดยในการดำเนินงานจะให้หน่วยงานในสังกัดพม.ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ทำการสำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว และจะพิจารณาสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานในสังกัด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามที่หลักเกณฑ์ฯ กำหนด
นายสันติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นรูปแบบกิจกรรมให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้ภารกิจของกระทรวงฯ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การให้บริการช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ถุงยังชีพ โดยการจัดตั้ง“ครัว พม.” ขึ้น เพื่อประกอบอาหาร แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งดำเนินการใน ๔ รูปแบบ คือ ๑. การจัดตั้งโรงครัว ณ ศูนย์อพยพ ๒. การจัดทำอาหาร ณ หน่วยงานของกระทรวง หรือชุมชน ๓. การจัดส่งอาหารสดให้ครัวเรือน / ชุมชน / องค์กรเอกชน เพื่อดำเนินการ ๔. การจัดจ้างกลุ่มแม่บ้าน /ผู้ประสบภัย ในชุมชน จัดทำและแจกจ่ายให้ประชาชนในศูนย์พักพิง หรือจัดส่งให้ประชาชนที่ยังอยู่ตามบ้านเรือน และ ๕. จัดตั้ง “ครัวรัฐบาล” ซึ่งกระทรวงฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูแลสนับสนุน ในพื้นที่กทม. จำนวน ๒ แห่ง คือ ๑. แยกสุขาภิบาล ๕ ให้บริการประชาชน ๑๙ ชุมชน มีผู้รับบริการจำนวน ๕,๐๐๐ ราย ๒. กม.๘๐ กาญจนาภิเษก ให้บริการประชาชน จำนวน ๑๐ เขตสน. จำนวนผู้รับบริการ ๒๕,๐๐๐ ราย ดำเนินการจัดตั้ง/ประสานการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง รวม ๒๑ จังหวัด มีศูนย์พักพิงชั่วคราวรวม ๙๗๐ แห่ง มีผู้พักพิงทั้งสิ้น ๑๑๗,๑๒๗ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๓ พ.ย.๕๔) ดำเนินการ ๓ รูปแบบ คือ การดำเนินการเองในหน่วยงานของพม. สนับสนุนหน่วยงานอื่น และสนับสนุนชุมชนดำเนินการเอง โดยภายในศูนย์ฯ จัดให้มีกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรม ๓ ส. สร้างสุข สร้างรายได้และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กิจกรรมคาราวานเสริมสร้างเด็ก การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น การให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๕ ต.ค.๕๔ มอบหมายให้ พม.และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันปรับปรุงรูปแบบให้เป็น ศูนย์พัฒนาฝีมือและคุณภาพชีวิตชั่วคราว ในรูปแบบบริการเบ็ดเสร็จให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพ บริการทางการแพทย์และการเยียวยาจิตใจ และจัดให้มีกิจกรรมที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มวัย รวมทั้งเร่งการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นที่เป็นประโยชน์และตรงตามความต้องการของประชาชนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ต่อไป.