กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--พี อาร์ โซลูชั่น
นางกฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่มีผลกระทบจากต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยง ในปัจจุบันว่า “ จากการเก็บข้อมูลการส่งทีมสัตวแพทย์จิตอาสาเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ผ่านมาของโรงพยาบาล และรายงานจากสาขาต่าง ๆ ของโรงพยาบาลพบว่า ข้อควรระวังที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรให้ความสำคัญกับอันตรายที่มากับสภาวะน้ำท่วมอันดับต้น ๆ ก็คือกลุ่ม อาหารและเครื่องดื่ม อันตรายจากโรคติดเชื้อที่มากับน้ำ จากสัตว์มีพิษ และจากสภาวะความเครียด ความกดดันจากการต้องปรับเปลี่ยนที่พักอาศัย และกิจวัตรที่สัตว์เลี้ยงคุ้นเคย
ทั้งนี้ จากการตรวจสุขภาพของสัตว์ป่วยพบว่า อันตรายจากอาหารและเครื่องดื่มเป็นเรื่องที่พบมากที่สุด เพราะอาหารการกินหรือแม้แต่น้ำดื่ม อาจจะไม่สะอาดปลอดภัย 100 % โดยอาการที่มักพบบ่อยสุด ได้แก่ อาการท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ ซึ่งเจ้าของสามารถใช้เกลือแร่ ที่เราทาน นั้นให้สุนัข หรือแมวที่มีอาการท้องเสียทานได้ แต่ถ้ามีอาการอาเจียนด้วยนั้นอาจให้ทานแต่น้ำสะอาด และงดเว้นอาหารทุกชนิด ก่อนนำเข้าพบสัตว์แพทย์ ทั้งนี้ ต้องเก็บ และทำความสะอาดพื้นที่ หรือบริเวณที่พบอุจจาระ หรืออาเจียน ให้สะอาด โดยอาจใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาทำความสะอาดเช็ดบริเวณดังกล่าวและแยกขยะทิ้งทุกครั้ง
สำหรับในบางพี้นที่ที่มีน้ำขังอยู่หลายวัน อาจมีเชื้อโรคแพร่กระจายรวมอยู่ที่อาจทำให้ สัตว์เลี้ยง
มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคที่มากับน้ำท่วมด้วย โดยอาจคอยสังเกตอาการเบื้องต้นต่าง ๆ ได้จากผื่นที่ขึ้นตามง่ามเท้า กลิ่นปัสสาวะที่รุนแรงมาก หรือสัตว์เลี้ยงมีอาการถ่ายเหลว ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ควรนำสัตว์เลี้ยงพบสัตว์แพทย์ทันที ” นางกฤติกากล่าว และเพิ่มเติมว่า
“นอกจากนี้ ในภาวะน้ำท่วมหลายวันที่ผ่านมา จะพบว่า มีข่าวเกี่ยวกับสัตว์มีพิษต่าง ๆ จำนวนมากที่หลุดรอดออกมา หรือทีหนีภัยธรรมชาติในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ งู ซึ่งในกรณีดังกล่าว เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถให้การดูแลเบื้องต้นก่อนรีบส่งโรงพยาบาล ด้วยการสังเกตว่าเป็นงูสายพันธ์ใด โดยอาจหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปงูไว้เพื่อมาให้สัตว์แพทย์ดูว่างูตัวนั้นเป็นงูสายพันธ์ไหนหรือว่าพิษ มีความรุนแรงมาก
หรือน้อยแค่ไหนแล้ว ให้เอาน้ำเปล่าล้างบริเวณแผลที่โดนงูกัด พร้อมพยายามอย่าให้โดนบริเวณแผลเพราะจะยิ่งทำให้อักเสบมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นควรพาสัตว์เลี้ยงมาพบสัตว์แพทย์ให้เร็วที่สุด ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์ดังกล่าว ในบางพื้นที่ ที่อยู่ในจุดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานหรือเจ้าของต้องนำไปฝากไว้ที่อื่น สัตว์เลี้ยงอาจเกิดความตรึงเตรียด เจ้าของต้องหมั่นพูดคุย ให้ความใกล้ชิด หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงบ่อย ๆ ซึ่งนอกจากช่วยผ่อนคลายความเครียดให้สัตว์เลี้ยงแล้ว ก็จะเป็นการผ่อนคลายความเครียดในตัวเองด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนที่พัก หรือการถูกจำกัดที่พักเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุของการขับถ่าย สัตว์เลี้ยงอาจแสดงอาการหมุนวนไปวนมา อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง เจ้าของควรค่อย ๆ สอนและอาจใช้กลิ่นที่คุ้นเคยในการขับถ่ายมาช่วยให้สัตว์เลี้ยงขับถ่ายได้ พร้อมคำชมเพื่อลดความตื่นกลัวและเครียด ลดการทำโทษ หรือดุ ด่า เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงเครียดและกลัวมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ เจ้าของอาจใช้กิจกรรมการทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงมาร่วมเป็นการผ่อนคลายความเครียดร่วมกันระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงได้อีกวิธีหนึ่ง อาทิ การแปรงขน หรือการทำความสะอาด ด้วยการนำผ้าสะอาดชุบน้ำให้หมาดๆแล้วนำมาลูบแบบย้อนขน และใช้ที่เป่าผมมาเป่าขนให้แห้ง ในกรณีที่ไม่มีที่เป่าผมแนะนำให้การแปรงขนเพียงอย่างเดียว เพราะถ้านำผ้าเปียกมาเช็ดแล้วไม่แห้งจะส่งผล ให้สัตว์เลี้ยงเป็นโรคผิวหนังได้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ควรทำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง” นางกฤติการกล่าวสรุป