กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ทีดีอาร์ไอ
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอเผยผลศึกษา ตัวอย่างผังเมืองภาคสู่ผังเมืองไทย เช่น ผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภูมิภาคและจังหวัดชายแดน ต้องเน้นเศรษฐกิจสีเขียว ลงทุน ถูกพื้นที่ และคุ้มค่า ชูศักยภาพพื้นที่เน้นอุตสาหกรรมเกษตรและบริการ ควรต้องโซนนิ่งพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมให้เหมาะสม ไม่กระจัดกระจาย แสดงพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ของการวางแผนเพื่ออนาคต
เนื่องจากการวางผังเมืองเป็นการกำหนดทิศทาง คาดการณ์อนาคตการเติบโตของประเทศทั้งในระดับประเทศ ภาค อนุภาค และจังหวัด แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะก้าวไปในทิศทางใด และเป็นจริงได้สักกี่มากน้อย “ผังเมือง” จึงเป็นคำถามเพื่ออนาคตจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และ พัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่มีส่วนเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำผังประเทศ ผังภาคและผังอนุภูมิภาคในบางพื้นที่ของประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยทีดีอาร์ไอได้มีส่วนทำการศึกษาผัง กรุงเทพมหานคร ภาคอีสาน ผังกลุ่มจังหวัดชายแดน (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และสระแก้ว) และกลุ่มจังหวัดร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และ กาฬสินธุ์) พบข้อน่าห่วงใยหลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งจะมีการแข่งขันกันใช้ที่ดินค่อนข้างสูงและมีผลกระทบต่อกันและกัน การใช้พื้นที่ระหว่างอุตสาหกรรมกับการเกษตร จึงควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์อุตสาหกรรมมิให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางลบกับพื้นที่เพาะปลูกสำหรับพืชเกษตร 3 ส่วนหลักคือ พืชอาหาร พืชอาหารสัตว์ พืชพลังงาน เช่น การปลดปล่อยน้ำเสีย การกีดขวางเส้นทางน้ำหลาก น้ำไหล เป็นต้น
ทั้งนี้โครงการศึกษาเพื่อจัดทำกรอบการพัฒนาและแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองชายแดนฯ และโครงการวางผังข้อมูลของกลุ่มจังหวัด “ร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์” เป็นกรณีตัวอย่างของการศึกษาเพื่อการวางผังกลุ่มจังหวัดและเมืองชายแดนสำหรับอนาคตประเทศว่าควรดำเนินการในทิศทางใดจึงสอดคล้องกับศักยภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่ มีการจัดทำแผนทั้งระยะสั้น(5 ปี) และแผนระยะกลาง (10-15 ปี )ที่ลงลึกถึงข้อมูลที่จำเป็น จัดทำฐานข้อมูลและกำหนดทิศทางการพัฒนาในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่
ในส่วนของทีดีอาร์ไอดำเนินการในด้านเศรษฐกิจ ประเมินและมองทิศทางในอนาคต พบว่าต้องเป็นเศรษฐกิจแบบสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม( clean and green) คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์และปลอดภัย มีการจัดโซนนิ่งจัดพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมไม่ให้กระจัดกระจายโดยทำในลักษณะนิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีการจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ทางการเกษตรที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติที่ใครมีที่ดินแล้วอยากทำอะไรก็ได้จนกระทบต่อโครงสร้างในการใช้ที่ดินซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการเกษตรและเกษตรกรในภาพรวมในระยะยาว
ผลการศึกษาทั้งสองกลุ่มจังหวัดในภาคอีสาน ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานศักยภาพของพื้นที่ โดยเน้นการประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ในช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้ได้ภาพรวมด้านเศรษฐกิจ ที่ยังเน้นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย และยางพารา แต่ควรปลูกในพื้นที่เหมาะสมไม่ใช่ใครอยากปลูกที่ไหน จังหวัดใดก็ได้ เช่น การนำยางพารามาปลูกในภาคอีสานและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนตอนนี้ภาคอีสานมีพื้นที่ยางพารามากกว่า 1.5 ล้านไร่ การแข่งขันในเรื่องการผลิตพืชอาหาร พืชอาหารสัตว์ และพืชพลังงาน ต้องมีการจัดการให้สมดุล เพราะการมีพืชชนิดใด ชนิดหนึ่งมาก ๆ ย่อมมีผลกระทบต่อใช้ประโยชน์จากพืชอื่น จึงต้องมีการวางแผนการจัดแบ่งพื้นที่การปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานให้สมดุลสอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การศึกษามีการกำหนดยุทธศาสตร์ตามศักยภาพความโดดเด่นของพื้นที่ในด้านต่าง ๆ เช่น เน้นการเป็นประตูการค้า อุตสาหกรรมที่สนับสนุนสินค้าที่จะส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงอินโดจีน และจีนตอนใต้ เน้นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ภาคเกษตรยังเป็นส่วนสำคัญใหญ่สุดเนื่องจากเป็นทั้งวิถีชีวิตและแหล่งดำรงชีพของประชาชนส่วนใหญ่จึงควรสนับสนุนส่งเสริมไว้ พร้อมกับแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค ได้แก่ ภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับเกษตร และปัญหาสภาพดินเสื่อมคุณภาพและดินเค็ม เป็นต้น
ดร.ยงยุทธ ยังกล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามานานมากแล้ว แต่การก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ใช้จุดแข็งสิ่งที่เรามี คือ ฐานการผลิตด้านเกษตรเป็นตัวนำ เราเสนอว่าในแง่ผังเมืองควรมีการจัดโซนสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ ว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะสมกับการปลูกอะไร ซึ่งการกำหนดสัดส่วนพื้นที่ชัดเจน หากทำตามแผนที่วางไว้ก็จะเป็นผลดีต่อผู้อยู่อาศัยและประเทศชาติ
การวางผังภูมิภาคเป็นการคาดการณ์อนาคตการเติบโตของประเทศทั้งในระดับประเทศ ภาค อนุภาค และจังหวัดที่สอดรับกันสนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่สาธารณชนควรรับรู้ และมีส่วนร่วม ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำเรื่องการกำหนดผังประเทศ ผังภาค และอนุภูมิภาคคือ สภาพัฒน์ฯและกรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนใหญ่สภาพัฒน์ฯจะเน้นในภาพรวมระดับประเทศ ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีการทำผังในทุกระดับตั้งแต่ผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภูมิภาค และผังกลุ่มจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการความก้าวหน้ามากที่สุด โดยเป็นการมองไปในอนาคตข้างหน้าถึง 50 ปีซึ่งหน่วยงานทั้งสองของรัฐบาลนี้ควรจะต้องร่วมมือกันนำผลจากการศึกษามาใช้กำหนดทิศทางของประเทศในระยะยาว และสิ่งสำคัญควรผลักดันให้การใช้พื้นที่ในประเทศไทยเป็นไปตามผังเมืองที่กำหนดได้จริง.