กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์มอร์
แม้ว่าโรคไตวายเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยต้องทำการบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต แต่หากผู้ป่วยรู้จักวิธีการดูแลปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีและไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ก็ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถมีชีวิตยืนยาวและดำรงชีวิตอิสระได้อย่างมีความสุข ดังนั้น “กำลังใจ” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคไต
ภญ.ทิพวรรณ จิตพิมลมาศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ชั้นนำ กล่าวว่า “ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตวายส่วนใหญ่ เมื่อทราบว่าตนป่วยเป็นโรคไตก็มักจะขาดกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรค เนื่องจากคิดว่าเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด แต่ในความเป็นจริงแล้วหากผู้ป่วยมีการดูแลตนเองและได้รับการบำบัดทดแทนไตอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยก็สามารถมีชีวิตยืนยาว และดำรงชีวิตอิสระได้ บริษัทฯ จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการ “กำลังใจเพื่อชีวิตอิสระของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง” ขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วยโรคไตวาย ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และจิตอาสาเพื่อสังคม แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป”
โดยโครงการฯ ได้คัดเลือกผู้ป่วยตัวอย่างจำนวน 20 คน จาก 13 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ที่สามารถดูแลตนเองและดำเนินชีวิตอิสระได้ตามปกติ และมีจิตอาสาในการช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วยการส่งบทความเข้าประกวดในหัวข้อ “ชีวิตอิสระของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง” เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาเพิ่มคุณภาพชีวิต และการใช้ชีวิตอย่างอิสระของผู้ป่วยโรคไต ที่พัทยา จ.ชลบุรี 2 วัน 1 คืน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการป่วยเป็นโรคไตวิธีการดูแลตนเอง และการบำบัดทดแทนไต รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน และการอยู่กับโรคไตอย่างมีความสุข เพื่อเป็นวิทยาทานและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ป่วยโรคไตคนอื่นๆ
งานนี้ นอกจากครอบครัวผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายทั้ง 20 ครอบครัว จะได้ใช้ชีวิตอิสระในการท่องเที่ยวเหมือนคนทั่วไปแล้ว ยังได้รับความรู้กับช่วงเสวนา “อยู่ดีมีสุข กับการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD)” โดย พล.ต.หญิง อุษณา ลุวีระ อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตอาสาเพื่อสังคม” โดย คุณมีชัย วีระไวทยะ
พล.ต.หญิง อุษณา ลุวีระ เปิดเผยว่า “โรคไตวายเรื้อรังนั้นมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน ไตอักเสบเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง และนิ่วในไต การรักษาทำได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ 1) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมต้องไปฟอกที่โรงพยาบาลทุกสัปดาห์ๆ ละ 3 ครั้ง 2) การเปลี่ยนถ่ายไต ซึ่งเป็นการรักษาที่ดีที่สุด แต่ขาดแคลนไตบริจาค และ 3) การล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นวิธีที่ทางรัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีนโยบายให้ผู้ป่วยโรคไตรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรกโดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ข้อดีของการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีนี้ คือ ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอิสระได้เหมือนคนอื่นๆ เพราะผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลโรงพยาบาล
อีกทั้ง การบำบัดด้วยวิธีนี้ต้องทำทุกวันจึงทำให้มีการขับของเสียออกจากร่างกายทุกวัน ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป ไม่ต้องจำกัดอาหารเหมือนวิธีการฟอกเลือด เพียงแต่ควบคุมรสชาติของอาหารไม่ให้รสจัดเกินไป เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนัก เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่เกลือ หรือน้ำปลา และผงชูรส โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 8,000 ราย ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งหากผู้ป่วยเหล่านี้ดูแลตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถทำการเปลี่ยนไตได้”
ทั้งนี้ ระหว่างการเสวนา ได้มีการระดมสมองแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล โดย นายอภิสิทธิ์ วงศ์สวัสดิ์ อายุ 39 ปี ชาวนครศรีธรรมราช บอกกับเราว่า “ผมป่วยเป็นโรคไตมา 16 ปีแล้ว รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องมาโดยตลอด ทุกวันนี้ก็ยังแข็งแรงดีอยู่ เพราะผมดูแลเรื่องการรับประทานอาหารเป็นอย่างดี กินแต่ของที่มีประโยชน์ ย่อยง่าย เช่น ปลา หรือ ไข่ ไม่กินรสจัด เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรอีก รวมถึงการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงถ้าเราดูแลสุขภาพของเราเป็นอย่างดี เราก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ผมสามารถเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวได้อย่างสบายๆ”
ต่อด้วย นายธีรมนัส ธนเอกอัครพงษ์ อายุ 48 ปี ชาวสงขลา ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดการอยู่สถานบันเทิงแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ เล่าว่า “ตอนที่รู้ว่าเป็นโรคไต สภาพร่างกายของผมแย่มาก น้ำหนักตัวเหลือเพียง 37 กิโลกรัม แต่ด้วยกำลังใจจากครอบครัวของผม ทำให้ผมอยากมีชีวิตอยู่ต่อ จึงพยายามทำจิตใจของผมให้เข้มแข็ง และคิดถึงแต่สิ่งดีๆ เพราะเรื่องจิตใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเรายอมรับในสิ่งที่เราเป็นได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นตามมา ปัจจุบันได้รับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง การดำเนินชีวิตก็เป็นปกติดี ทำงานได้ เพียงแต่ต้องปรับเวลาล้างไตให้เข้ากับงานที่เราทำ (8 ชั่วโมงล้าง 1 ครั้ง) ไม่ทำตัวเป็นคนป่วยหรือเป็นภาระของเพื่อนร่วมงาน โดยคิดเสมอว่าเราป่วยแต่เพียงร่างกายเท่านั้น แต่อย่าทำให้จิตใจของเราป่วยตามไปด้วย ถือว่าการล้างไตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นกิจวัตรประจำวันของเรา แต่ที่สำคัญผมจะปฏิบัติตัวตามที่คุณหมอสั่งทุกอย่าง ดื่มน้ำพอประมาณ และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย”
ด้าน น้องอาท หรือ ด.ช.กิตติศักดิ์ ป้อมอาสา อายุ 12 ปี จากจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในส่วนของผู้ดูแล เล่าให้ฟังว่า “ผมช่วยดูแลพ่อ เพราะตาของพ่อมองไม่เห็น จากการเป็นโรคเบาหวานขึ้นตา มิหนำซ้ำยังเป็นโรคไตอีก หลังจากใช้เงินที่มีมารักษาพ่อจนหมด แม่ต้องออกไปหางานทำ โดยแม่สอนให้ผมเปลี่ยนน้ำยาล้างไตให้พ่อ ซึ่งผมจะทำตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน และตอนกลางวันในช่วงพักเที่ยง และอีกครั้งก็ตอนเย็นหลังเลิกเรียน ส่วนตอนกลางคืนแม่จะมาดูแลต่อ อยากจะฝากบอกครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคไตวายว่าอย่าท้อ และการล้างไตทางช่องท้องที่บ้านไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่เราต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามคำแนะนำของพี่ๆ พยาบาล ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แผลของพ่อไม่เคยติดเชื้อเลย เพราะผมรักษาความสะอาดอยู่เสมอ และทำตามขั้นตอนที่พยาบาลสอนทุกอย่าง ไม่ข้ามขั้นตอน และให้กำลังใจพ่ออยู่เสมอ อยากให้พ่ออยู่กับผมไปนานๆ”
หลังการระดมสมองผ่านไป ผู้ป่วยก็ได้มีโอกาสได้แสดงการใช้ชีวิตอิสระด้วยการไปเดินชอบปิ้งกันที่ตลาดน้ำ 4 ภาค (พัทยา) แม้อากาศจะค่อนข้างร้อนอยู่สักหน่อย แต่ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล ก็ไม่ย่อท้อ ต่างก็สนุกสนานกับการชมสินค้านานาชนิด ต่อด้วยรับประทานอาหารกลางวันริมชายหาด แล้วไปฟังพระธรรมเทศนา โดยพระจุลนายก (สุชาติ อภิชาโต) ใจความว่า “การดูแลตัวเองนั้น สำคัญอยู่ที่จิตใจ เมื่อจิตใจเข้มแข็งแล้ว ร่างกายเราก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย นอกจากนี้ การดำรงชีวิตอย่างมีสติ ก็จะสามารถช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข รวมทั้งใช้ปัญญาสร้างสรรค์แต่สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับชีวิตด้วย การล้างไตทางช่องท้องเป็นสิ่งที่ดี ดังพุทธภาษิตว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น ไม่มีใครมาช่วยเราได้ นอกจากตัวเรา”
การทัศนศึกษาครั้งนี้ ทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตาม ต่างก็ได้รับความสุข และสนุกสนาน โดยจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ก็สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป รวมถึงการทำงานอาสาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
สำหรับการบำบัดทดแทนไต ด้วยการล้างไตทางช่องท้องนี้ อยู่ในโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดผ่านบัตรประกันสุขภาพ อีกทั้งยังมีระบบการส่งจ่ายน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางช่องท้องฟรีถึงบ้าน โดยผู้ป่วยไม่ต้องกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาล้างไตที่โรงพยาบาล ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง