กทม.กำหนดมาตรการคุมเข้มพื้นที่พบเชื้อไข้หวัดนก

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2004 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกทม. เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.47) เวลา 13.00 น. นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว เรื่อง ความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในกรุงเทพมหานคร โดยมี นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ นพ.ปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ นายพงษ์ศักดิ์ เสมสันต์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.เอี่ยม วิมุติสุนทร ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และนายผดุง สุเตชะ ปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในกรุงเทพฯ แต่มีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนก H5 N1 ในเป็ดและไก่ชน จำนวน 3 ตัวอย่าง บริเวณแยกรัชวิภา ในพื้นที่เขตจตุจักร และพบในไก่ชนจำนวน 1 ตัวอย่าง ที่เขตบึงกุ่ม กทม.จึงได้ประกาศให้พื้นที่ในรัศมี 5 ก.ม. จากจุดที่พบเป็นเขตควบคุมโรคระบาดสัตว์ ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 แล้ว ซึ่งกทม.จะจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบจุดที่เลี้ยงสัตว์ปีกทุกแห่งในพื้นที่ควบคุม กรณีที่ไม่มีใบรับรองจากปศุสัตว์ท้องที่ จะดำเนินการทำลายทันที และจะประสานความร่วมมือกับตำรวจนครบาล ตั้งจุดสกัดการผ่านเข้าออกหรือการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกรอบรัศมี 5 ก.ม. ดังกล่าวด้วย พร้อมนี้ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตทุกเขต โดยเฉพาะกลุ่มเขตทางด้านตะวันออก ลงพื้นที่สำรวจฟาร์มสัตว์ปีก รวมถึงสถานที่ฆ่าสัตว์ปีกในพื้นที่ให้มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกอย่างเคร่งครัด สัตว์ปีกที่นำมาส่งยังสถานที่ฆ่าสัตว์ปีกหรือจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปพื้นที่อื่น ต้องได้รับการรับรองผลตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการจากปศุสัตว์ท้องถิ่นว่าปลอดจากโรคระบาดเท่านั้น และมีหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์จากสัตวแพทย์ท้องที่ จึงจะเคลื่อนย้ายได้ โดยประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.-31 มี.ค.47 หรือจนกว่าโรคระบาดของสัตว์ปีกที่เป็นอยู่ปัจจุบันจะสงบ
นพ.ประพันธ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามตนขอแจ้งให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะการติดเชื้อไข้หวัดนกในกรุงเทพฯ นั้น เป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้มีโอกาสติดเชื้อต้องเป็นผู้ที่สัมผัสไก่ หรือสัตว์ปีกที่ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดเท่านั้น และโรคนี้ไม่เคยมีรายงานว่าติดต่อจากคนสู่คน ส่วนเนื้อไก่หรือไข่ไก่นั้น สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยหากทำให้สุกก่อน เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะถูกทำลายที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ควบคุมดูแล เฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้กทม. ได้กำหนดมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ โดยจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดฯ โทรศัพท์หมายเลข 0 2248 7417 (ในเวลาราชการ) และโทร. 1555 (ตลอด 24 ช.ม.) ซึ่งหากประชาชนพบเห็นสัตว์ปีกตายเป็นกลุ่มอย่างผิดปกติ ต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจพิสูจน์ หรือมีสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ตายมากกว่า 20 ตัวขึ้นไป ให้แจ้งมายังหมายเลขดังกล่าว เพื่อกทม. จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหรือดำเนินการฝังกลบให้อย่างถูกวิธีต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ