กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--ธนาคารกสิกรไทย
แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย (KF&E) คาดน้ำท่วมใหญ่เครื่องจักรเสียหาย 96,000-160,000 ล้านบาท เร่งช่วยฟื้นฟูลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย ออกมาตรการ “ลด ยืด เพิ่ม” เพื่อการซื้อ/ซ่อมเครื่องจักร ด้วยดอกเบี้ยพิเศษ 4% 3 ปีแรก ผ่อน 7 ปี พร้อมพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ยนาน 6 เดือน หวังให้ลูกค้าเดินหน้าผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด
นายศาศวัต วีระปรีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จำกัด หรือ KF&E หนึ่งในเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจลีสซิ่งเครื่องจักร เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสินทรัพย์ประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยมีมูลค่ารวมประมาณ 240,000 ล้านบาท โดยน่าจะมีมูลค่าความเสียหายของเครื่องจักรและอุปกรณ์ประมาณ 96,000-160,000 ล้านบาท เนื่องจากบางโรงงานได้มีการขนย้ายเครื่องจักรไว้ในที่ปลอดภัยได้ทัน
จากมาตรการของเครือธนาคารกสิกรไทย ในการช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจของลูกค้า ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงแรกที่ลูกค้าเข้าสำรวจความเสียหายของธุรกิจรวมถึงความเสียหายในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ช่วงที่ 2 ช่วงฟื้นฟูกิจการ ซ่อมแซมเครื่องจักร สั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์มาติดตั้งทดแทนส่วนที่เสียหาย และช่วงที่ 3 เร่งผลิตเพื่อชดเชยการผลิตในช่วงภาวะน้ำท่วม
บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จะเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการในช่วงฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าที่ต้องการสั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ โดยมีมาตรการ “ลด ยืด เพิ่ม” คิดอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกแบบ “ลด” พิเศษ 4% ใน 3 ปีแรก “ยืด” ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 7 ปี และ “เพิ่ม” สภาพคล่องให้กับธุรกิจ ด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน พร้อมให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 100% ของมูลค่าเครื่องจักร ส่วนลูกค้าที่ต้องการจะซ่อมแซมเครื่องจักร ทางธนาคารกสิกรไทยมีสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการสำหรับการปรับปรุงและซ่อมแซมเครื่องจักรและสถานประกอบการ
สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินลีสซิ่งเครื่องจักรอยู่แล้ว ทางบริษัทฯ จะขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดถึง 6 เดือน และต่อให้สูงสุดอีก 6 เดือน หากสถานการณ์ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผลกระทบที่ลูกค้าแต่ละรายได้รับ
นอกจากการสนับสนุนทางด้านการเงินแล้ว บริษัทฯ ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ประสานงานกับผู้จำหน่ายเครื่องจักรที่เป็นพันธมิตร เพื่อเร่งเข้าตรวจสภาพและซ่อมแซมเครื่องจักรหลังน้ำลด หรือหาบริษัทที่เชี่ยวชาญทำความสะอาดเครื่องจักรและโรงงาน เพื่อเข้าทำความสะอาดเครื่องจักรให้กับลูกค้า ส่วนกรณีลูกค้าต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนเครื่องเดิมหรือนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ก็จะตัวกลางช่วยประสานงานกับคู่ค้าเพื่อช่วยแนะแนวทางและกระบวนการต่าง ๆ ให้นำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น หรือกรณีเครื่องจักรได้รับความเสียหายและต้องการเคลมประกัน ก็จะช่วยประสานงานกับบริษัทประกันภัยเพื่อพิจารณาชดเชยความเสียหายของเครื่องจักรให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายศาศวัต กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง การบูรณะซ่อมแซมฟื้นฟูบ้านเรือน โรงงาน ถนนที่เสียหาย รวมทั้งการสร้างแนวป้องกันอุทกภัยที่มีความสูง แข็งแรง และคงทนถาวรกว่าที่ผ่านมาน่าจะส่งผลให้มีความต้องการเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาก เชื่อว่ามูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรก่อสร้างและอุปกรณ์ของไทยในปี 2555 น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2555 การนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศของไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% ประเภทเครื่องจักรที่จะมีการเติบโตสูง ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง เช่น รถขุด รถตัก และรถเครน เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งในกลุ่มของผลิตภัณฑ์โลหะและพลาสติก ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องจักรกลที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ เครื่อง CNC เครื่องฉีด เครื่องเป่า และเครื่องขึ้นรูปพลาสติก
บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยช่วยฟื้นฟูภาคธุรกิจให้สามารถกลับมาผลิตสินค้าต่อไปได้ โดยลูกค้าที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารกสิกรไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ K-Biz Contact Center 0-2888-8822