กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๔ ” เพื่อรวมพลังทุกภาคส่วนของสังคมเป็นเครือข่ายในการหยุด ทำร้ายและยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ณ เทศบาลตำบลวังชมภู ตำบลวังชมภู อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนางสาวมาลินี อินฉัตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน ในวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.
นางสาวมาลินี อินฉัตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัว ที่มักจะถูกกลบทับด้วยคำว่า“เรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว” คนภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้ผู้ถูกกระทำต้องทนอยู่ในสภาพถูกกระทำซ้ำๆ โดยหาทางออกไม่ได้และบางครั้งนำมาซึ่งกรณีการโต้กลับด้วยความรุนแรงเช่นกัน รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐ ประสานการดำเนินงานดังกล่าวกับภาคีภาคส่วนต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรณรงค์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างให้เกิดกระแสการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
นางสาวมาลินี กล่าวต่อว่า สำหรับในวันนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ และองค์กรภาคเอกชน ได้ร่วมจัดงานวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๔ ขึ้น โดยมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วยการลงนามและเขียนข้อความบนผืนผ้าร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรง การมอบเกียรติบัตรแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ตลอดเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ การมอบรางวัลและเกียรติบัตรให้แก่นักเรียนที่ชนะเลิศการประกวดคำขวัญ เรียงความ วาดภาพระบายสี หัวข้อ“ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว” การมอบทุนการศึกษา มอบรถโยกคนพิการ การจัดแสดงผลงานนักเรียนที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ และการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ รอบบริเวณงาน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ๒,๐๐๐ คน
“การใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวเข้าไปจัดการกับเรื่องปัญหาในครอบครัวนั้น อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีของครอบครัว เพราะปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาที่มีมิติทางสังคมที่ต้องการการคุ้มครองเยียวยา และดูแลจากคนในครอบครัว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลจากองค์กรต่างๆ เยาวชน และภาคประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว” น.ส.มาลินี กล่าว.