สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สำรวจความตระหนักและความสนใจของประชาชนด้านวิทยาศาสตร์ฯ กรุยทางพัฒนาสังคมวิทยาศาสตร์ไทย

ข่าวเทคโนโลยี Thursday January 29, 2004 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุล อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการศึกษาแนวทางพัฒนานโยบายและมาตรการสร้างความตระหนักและความเข้าใจของประชาชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ให้ความเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนทุกระดับส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจถึงความสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ จึงไม่มีปัญหาที่ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน จะตั้งงบประมาณลงทุนด้านการวิจัยและสร้างนักวิจัยในสาขาดังกล่าว ประเทศจึงมีโครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มั่นคง และเป็นรากฐานสำหรับการแข่งขันได้ดีกว่าประเทศอื่นสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่มีวัฒนธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าว จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ มีข้อสังเกตว่า ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างดี เช่น ประเทศเกาหลีนั้น มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ดำเนินการตามเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระยะแรก ๆ จนเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นดำเนินการตาม
อนึ่ง IMD Competitiveness Year Book ซึ่งจัดทำโดย Institute for Manament Development ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีหัวข้อ"Interest in Science and Technology" เป็นดัชนีหนึ่งที่ชี้วัดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีการดำเนินการตามตัวอย่างประเทศเกาหลี เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วนั้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจและให้ความตระหนักต่อบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีต่อชีวิตประจำวันและการพัฒนาประเทศค่อนข้างน้อย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากรูปแบบและมาตรการประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่เหมาะสม ทั้ง ๆ ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานและเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ปัจจุบัน แม้ภาครัฐจะเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ได้มีการจัดสรรเงินให้กับกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลายระดับ รวมทั้งได้จัดสรรเงินให้กับกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ปัจจัยที่สำคัญยิ่งคือ ยังขาดกิจกรรมที่จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไป
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุล หัวหน้าโครงการฯ และมีนักวิจัย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สุนทรส , นายบำรุง ไตรมนตรี , นางรุ่งนภา ทัดท่าทราย , นางสาวรดาวรรณ ศิลปโภชากุล และ นางสาวจงดี น้อยเคลือบ ผู้ช่วยนักวิจัยและเลขานุการโครงการฯ
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก ดร.พงษ์ทิพย์ บุญเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ จากแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาข้อมูลการดำเนินการในต่างประเทศ ในด้านการสร้างความตระหนักและสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นกรณีศึกษา
สำหรับประเทศไทย คณะผู้วิจัยจะได้ทำการสำรวจ วิเคราะห์การดำเนินงานและกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนของไทย ที่เกี่ยวข้องที่ส่งเสริมและสนับสนุนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลด้านบทบาทและกิจกรรมและความตรงเป้าหมายของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศบางประเทศที่เป็นกรณีศึกษา จะทำให้ได้ข้อเสนอรูปแบบและมาตรการประชาสัมพันธ์ และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย เพื่อเสนอรูปแบบและมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนัก และเกิดความสนใจในกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสังคมไทยต่อไป ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดถึงความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากมีแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาสังคมไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยก็คงไม่ถูกจัดอันดับไว้ท้าย ๆ ดังเช่นที่เป็นมา
โครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน(กุมภาพันธ์ 2547 - กันยายน 2547) โดยคาดว่าจะได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากฝ่ายวิจัยนโยบายและแผนฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำโครงการสำรวจและวิเคราะห์การดำเนินงานในปัจจุบันขององค์ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยสร้างความตระหนักและความสนใจของประชาชนต่อกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอรูปแบบและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีความสนใจและมีบทบาทร่วมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้มากขึ้น
ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นประเทศที่สามารถยกระดับในการพัฒนาประเทศให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้หรือไม่ คงจะต้องรอดูกันต่อไป
สอบถามได้รายละเอียดได้ที่ โครงการสำรวจกิจกรรมเพื่อกระตุ้นความตระหนักและความสนใจของประชาชนด้านวิทยาศาสตร์ฯ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขที่ 73/1 ตึกสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ชั้น 4 ถนนโยธี พญาไท ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 0-2644-9300 โทรสาร 0-2644-8717 หรือ e-mail : rungvang@hunsa.com--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ