กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สสวท.
การจัดการศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาของไทยมีความแตกต่างกันในเรื่องความพร้อมหลายด้านของสถานศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งพบว่าหลายโรงเรียนมีครูผู้สอนไม่เพียงพอกับจำนวนชั้นเรียน ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชา และมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากการสอนมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำการวิจัยศึกษาสภาพการจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 — 2554
ดร. ประสงค์ เมธีพินิตกุล หัวหน้าสาขาวิจัย สสวท. กล่าวว่า “กิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย เกิดขึ้นจาก สสวท. ค้นพบจากผลการวิจัยว่า สาเหตุที่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กทำโจทย์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้คะแนนน้อย หรือเรียนรู้ได้ไม่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเรียนมีปัญหาการอ่านภาษาไทย การเชื่อมโยงบูรณาการกันจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สนุก และเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย เนื้อหาเดียวสามารถเรียนรู้ได้ทั้งสามวิชา และที่สำคัญคือเป็นการช่วยครู เพราะครูโรงเรียนขนาดเล็กมีครูค่อนข้างน้อย ครูคนหนึ่งสอนทุกวิชา หรือสอนหลายวิชา หลายระดับชั้น
ครูสามารถนำหน่วยการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ สสวท. พัฒนาขึ้นไปปรับใช้ให้ยืดหยุ่นตามสภาพหรือความพร้อมของนักเรียน ในช่วงที่จัดกิจกรรมใหม่ ๆ นักเรียนอาจต้องใช้เวลาในการทำกิจกรรมมาก แต่พอเรียนไปจนถึงหน่วยที่ 3 นักเรียนจะทำกิจกรรมได้คล่องขึ้น และเห็นพัฒนาการที่ดีของนักเรียนอย่างชัดเจน”
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โรงเรียนขนาดเล็กในเขตภาคกลางและปริมณฑล จำนวน 15 โรงเรียน ครู 82 คน และนักเรียน 1,033 คน ใช้แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้แบบการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ แบบการสังเกตการณ์การสอนของครู และแบบสอบถามโดยวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ระดับ ป. 1 — ป. 3 จำนวนชั้นปีละ 3 หน่วยการเรียนรู้ ในปีงบประมาณ 2552
ต่อมามีการพัฒนากิจกรรมบูรณาการระดับ ป.1-ป.3 เพิ่มชั้นละ 2 หน่วยการเรียนรู้ และพัฒนาในชั้นปี ป.4 - ป.6 ชั้นละ 3 หน่วยการเรียนรู้ ในปี 2553 จนถึงปี 2554 ได้พัฒนาแบบบูรณาการชั้น ป.4 - ป.6 ชั้นละ 2 หน่วยการเรียนรู้
ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย มีผลการเรียนรู้สูงกว่าก่อนเรียนทุกหน่วยการเรียนรู้ นักเรียนส่วนใหญ่มีความตั้งใจ สนใจใฝ่รู้ ให้ความร่วมมือ มีความสุขกับการเรียน คะแนนเฉลี่ยผลผลสัมฤทธิ์ชั้น ป.1-ป.6 สูงกว่าเดิม สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีการสอนและการเรียนรู้แบบบูรณาการสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทยเข้ามาไว้ด้วยกัน
หลังจากที่ สสวท.ได้ดำเนินการทดลองใช้กิจกรรมบูรณาการฯ กับกลุ่มตัวอย่างในนั้น เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดราชบุรี เขต 2 ซึ่งมีโรงเรียนขนาดเล็กและมีครูไม่ครบชั้นจำนวนมาก มีความประสงค์จะขอเข้าร่วมโครงการนำกิจกรรมการเรียนรู้บูรณรการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย ไปใช้ทุกโรงเรียนเต็มพื้นที่เขต รวม 58 โรงเรียน สสวท. จึงได้ขยายผลการวิจัยไปใช้ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งพบว่า การดำเนินงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง
เอกสารที่ สสวท. พัฒนาขึ้นเพื่อประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย ประกอบด้วย คู่มือการจัดกิจกรรมสำหรับครูและแบบบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทยสำหรับนักเรียน ชั้นละ 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่
ชั้น ป. 1 เรื่อง ตัวเราและรอบตัวเรา เรารักของเล่นและของใช้ ดิน ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาว
ชั้น ป. 2 เรื่อง รอบตัวเรา พืชมีชีวิตคิดวิธีปลูกและดูแล ตัวเราก็เท่านี้ ของเล่นของใช้ของเรา มหัศจรรย์พลังงาน
ชั้น ป. 3 เรื่องรอบรั้วโรงเรียนเรา ทรัพยากรทรงคุณค่า วัสดุน่ารู้ พลังงานสร้างชีวิต แรงพิชิตวัตถุ
ชั้น ป .4 เรื่อง นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ สัตว์โลกผู้น่ารัก แผ่นดินของเรา ปาฏิหาริย์แห่งพลังงาน มหัศจรรย์บนฟากฟ้า
ชั้น ป. 5 เรื่องเหมือนกันได้อย่างไร แตกหน่อต่อยอด ปาฏิหาริย์ของสาร แรงน่าพิศวง หยาดน้ำฟ้า
ชั้น ป. 6 เรื่อง การเจริญเติบโตของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมน่ารู้ มหัศจรรย์สารรอบตัว ไฟฟ้าแสนกล ปรากฏการณ์ของโลก
โดยภาพรวมแล้ว ครูมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ นักเรียนมีการตอบสนองต่อกิจกรรมการเรียนรู้ดีมาก นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วม มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อการทำงานกลุ่ม รู้จักถามมากขึ้น กล้านำเสนอผลงานมากขึ้น ครูมีการประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียนในเนื้อหาสาระของบทเรียนโดยการตอบคำถาม สังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของนักเรียน สำหรับการนำกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ ฯ ไปใช้ในโรงเรียนนั้น ครูบางส่วนได้แก้ไขดัดแปลงบทเรียนตามความเหมาะสมกับสื่อที่มีอยู่ในโรงเรียน รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย
จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้งานวิจัยนี้ ได้รับรางวัลจากโครงการประกวดและคัดเลือกผลงานวิจัยดีมีคุณภาพประจำปี 2553 ระดับ สพฐ. ในระดับนี้ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกจาก สกศ. ให้ไปนำเสนองานวิจัยในการประชุมวิชาการด้านการวิจัยทางการศึกษาระหว่างไทย — มาเลเซีย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 25-29 กรกฎาคม 2554 ที่ประเทศมาเลเซีย
มาดูความคิดเห็นของคุณครูกัน นางสาวสุดารัตน์ ทับสาย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทำนบ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ประธานกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. เขต 2 จังหวัดราชบุรี ให้ความคิดเห็นว่า แนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นนั้น ครูสามารถนำไปใช้ได้และนักเรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดจนมีความสนุกสนานในการเรียน แบบฝึกหัดที่จัดให้โดยออกรูปแบบได้อย่างเหมาะสม มีการนิเทศติดตามดูการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพที่เกิดขึ้นจริง
“กิจกรรมการเรียนการสอนที่ สสวท. พัฒนาขึ้นนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะได้พัฒนาครูให้มีแนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ได้ใช้สื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนักเรียนได้เรียนในบรรยากาศที่หลากหลาย ครูสะดวกเพราะช่วยครูในการคิดกิจกรรมรูปแบบและเป็นแนวในการคิดกิจกรรมเพิ่มเติม นักเรียนได้รับความรู้จากกิจกรรมที่จัดให้อย่างหลากหลายและมีความสุขในการเรียน ในโรงเรียนมีการนำกิจกรรมที่ สสวท.ได้จัดทำไว้ดัดแปลงไปใช้ เป็นแนวทางในการเขียนแผนเพิ่มเติมในกลุ่มสาระอื่น ๆ และเตรียมการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้กับนักเรียนในรุ่นต่อไป”
นายเสนาะ โกพัตตา โรงเรียนวัดตาล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการนี้ประทับใจเอกสารประกอบกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการมีรายละเอียดครบถ้วนสามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้เลยโดยไม่ต้องไปศึกษาค้นคว้าอีก ซึ่งได้นำกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้ทุกแผนการจัดการเรียนรู้ มีการประยุกต์ใช้ในการบูรณาการกับกลุ่มสาระคณิตศาสตร์และภาษาไทย ถ้าในแผนนี้ตรงกับมาตรฐานการเรียนรู้ใด ก็จะสอนรายละเอียดในกลุ่มสาระคณิตศาสตร์และภาษาไทยในมาตรฐานนั้น “โครงการนี้มีประโยชน์ทำให้ครูสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนเล็กมีครูน้อยอยู่แล้ว นักเรียนก็ได้รับความรู้และประสบการณ์ตามที่หลักสูตรกำหนด”
นางสาวอมรรัตน์ บัณฑิตาโสภณ โรงเรียนวัดศรีประชุมชน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี บอกว่า คู่มือที่ สสวท. จัดทำมาให้ ดีมาก สะดวกในการใช้และการเตรียมอุปกรณ์ เพราะเนื้อหาของแต่ละวิชาบูรณาการวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย เข้าด้วยกัน ทำให้ย่นระยะเวลาสอนลง ทำให้มีเวลาทบทวน ลดภาระงานในด้านการสอนของครู อยากให้แจกคู่มือและแบบฝึกให้โรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งโดยประสานกับ สพฐ. หรือใช้เงินจัดซื้อหนังเรียนฟรี 15 ปี ในการจัดซื้อ
นางจรัสศรี วสวานนท์ โรงเรียนวัดหนองอ้อ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เล่าว่า ในโรงเรียนได้นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ในสภาพจริงในแต่ละชั่วโมงที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับเด็กเป็นอย่างมาก และสามารถบูรณการไปถึงวิชาอื่นๆ ได้จริง พร้อมกันนี้ได้วางแผนไว้ว่าจะนำกิจกรรมไปถ่ายทอดแก่ครูผู้สอนวิชาอื่นๆ ให้ได้จัดกิจกรรมแบบบูรณการ ของ สสวท. ในวิชาที่จัดการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆ ต่อไป เช่น วิชาสังคม วิชาอังกฤษ วิชาศิลปะ วิชาสุขศึกษา เป็นต้น
นางสาวณรัชญ์ โชคสินอนันต์ โรงเรียนวัดทำนบ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ประทับใจแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ด้วยตนเอง ประโยชน์ต่อครูก็คือมีแผนการจัดการเรียนรู้ที่สามารถบูรณาการทั้ง 3 วิชาหลักถือเป็นหัวใจในการจัดการศึกษาที่สำคัญให้กับผู้เรียน ผลที่ได้รับนักเรียนสามารถพัฒนาความรู้และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและศึกษาต่อ ต่อไปจะนำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย มาจัดการเรียนการสอนในปีต่อไป และนำความรู้จากแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการจัดทำหรือเขียนแผนให้บูรณาการกับวิชาอื่น ๆ เช่น ศิลปะ ประวัติศาสตร์
ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2555 นี้ สสวท. จะขยายผลต่อ ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพป. ราชบุรี เขต 2 ทุกโรงเรียน โดยจัดอบรมหน่วยการเรียนรู้ที่ 4 - 5 ระดับชั้น ป. 4 — ป. 6 ให้แก่ครู แล้วส่งเสริมการนำไปใช้ ให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และมีการติดตามประเมินผลโดยผู้พัฒนากิจกรรมและคณะวิจัยจาก สสวท. แล้วประชุมสรุปผล
นอกจากนั้น สสวท. จะปรับปรุงเอกสารแล้วจัดพิมพ์หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 -5 ชั้น ป. 4 — ป. 6 ส่งให้เขตพื้นที่ประถมศึกษาทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ
นับว่าโครงการนี้ เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับนักเรียนตัวน้อยในโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้ในสภาพที่ขาดแคลนทั้งงบประมาณ และครูผู้สอน