นายกฯ ทักษิณเปิดศูนย์กลางการค้าปิโตรเลียมของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2004 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--ปตท.
ศูนย์กลางการค้าปิโตรเลียมของไทยเริ่มเปิดให้บริการแล้ววันแรก นายกรัฐมนตรีเป็นประธานปล่อยเรือน้ำมันที่ส่งออกให้ลูกค้าเป็นลำแรกในเขต Free Zone ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ปตท. และบริษัทคู่ค้าประเดิมทำธุรกรรมทั้งซื้อ-ขาย และความร่วมมือมูลค่าเกือบ 40,000 ล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าปิโตรเลียม รัฐบาลมั่นใจระบบ One Stop Service ของไทยสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ค้าน้ำมัน ที่จะใช้ไทยเป็นทางเลือกใหม่ในการค้าน้ำมันสากลในแถบภูมิภาคนี้
วันนี้ (29 ม.ค. 47) ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์กลางการค้าปิโตรเลียม (Thailand Petroleum Trading Center) ที่ศรีราชา ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญแรกของยุทธศาสตร์การปรับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค โดยการกดปุ่มปล่อยเรือน้ำมันเบนซินออกเทน 90 (จำนวน 4,000 ตัน) เพื่อส่งออกไปประเทศเวียดนาม ณ คลังปิโตรเลียมศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับเป็นการซื้อ-ขายน้ำมันครั้งแรกภายใต้ระบบ Free Zone ที่อนุญาตให้นำวัตถุดิบจากหลายแหล่งมาผสมกันให้ได้คุณสมบัติเฉพาะตามที่ลูกค้าต้องการ และทำการส่งออกโดยไม่ต้องผ่านขบวนการทางภาษี ซึ่งเป็นธุรกรรมปกติของการค้าน้ำมันสากล
ในวันเดียวกันนี้ นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้เป็นประธานการลงนามในสัญญาซื้อ-ขาย น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปิโตรเคมี และน้ำมันเดินเรือสมุทร สัญญาป้องกันความเสี่ยงสำหรับการค้าน้ำมัน และบันทึกความเข้าใจในการศึกษาเรื่องการผสมน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าระหว่าง ปตท.กับบริษัทคู่ค้าน้ำมันต่างๆ รวม 9 ฉบับ โดยมียอดปริมาณการค้ารวม 30 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นเกือบ 40,000 ล้านบาท ซึ่งการลงนามดังกล่าวถือเป็นสัญญาภายใต้กฎระเบียบใหม่ที่จะขยายตัวต่อไปอย่างรวดเร็วในอนาคต
นพ.พรหมินทร์ เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมให้อำเภอศรีราชาเป็นศูนย์กลางการค้าปิโตรเลียม โดยได้มีการกำหนดพื้นที่เขตปลอดอากร หรือพื้นที่ยกเว้นภาษีสรรพสามิตและศุลกากร (Export Processing Zone) ซึ่งผู้ค้าสามารถนำเข้าน้ำมันจากนอก และ/หรือ ในประเทศมาผสมเพื่อส่งออก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการแบบครบวงจร (One Stop Service Center) เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ค้าน้ำมันที่จะเข้ามาซื้อขายผ่านศูนย์ค้าน้ำมันของประเทศไทย โดยผู้ค้าสามารถรับบริการด้านเอกสารการค้าที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร ณ จุดบริการภายในสถานที่แห่งเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ภาครัฐได้ผ่อนผันและแก้ไขกฎระเบียบด้านการเงิน เพื่อเอื้อต่อการทำการค้าสากล อาทิ กำหนดมาตรการจูงใจ โดยการลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทค้าน้ำมันที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวถึงศักยภาพของศูนย์การค้าน้ำมันของไทย ซึ่งจุดแรกจะเปิดที่ศรีราชาว่า ปัจจุบันมีคลังเก็บสำรอง (คลังน้ำมันศรีราชา 730 ล้านลิตร และคลังที่สีชัง 340 ล้านลิตร) ท่าเทียบเรือ (ขนาด 100,000 - 250,000 ตัน) โรงกลั่นน้ำมัน (เอสโซ่ฯ ขนาด 165,000 บาร์เรล/วัน และไทยออยล์ฯ 220,000 บาร์เรล/วัน) พร้อมมีท่อน้ำมันเชื่อมจากศรีราชาไปยังคลังน้ำมันทางเหนือของกรุงเทพฯ (ลำลูกกาและสระบุรี) อีกทั้งกำลังวางท่อเชื่อมจากศรีราชาไปยังระยองเพื่อเชื่อมถึงโรงกลั่นน้ำมันระยองฯ และโรงกลั่นสตาร์ฯ (รวม 2 โรงกลั่นขนาด 300,000 บาร์เรล/วัน) ดังนั้น ศรีราชาจึงเป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงทั้งจากโรงกลั่นที่ศรีราชาและระยองไปยังผู้บริโภคทุกภาคในประเทศ และสามารถเป็นจุดศูนย์กลางในการนำเข้าส่งออกน้ำมันที่สำคัญของประเทศได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศกลุ่มอินโดจีนและจีนตอนใต้
นอกจากนี้แล้ว ปตท. ยังเป็นผู้จัดหาและจัดส่งก๊าซธรรมชาติ ในระดับ 2,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จัดหาคอนเดนเสทในระดับ 60,000 - 70,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานปิโตรเคมีที่จังหวัดระยอง โดย ปตท. ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทปิโตรเคมี ได้แก่ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), และ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีกำลังการผลิตเอทิลีน, โพรพิลีน, พาราไซลีน รวมมากกว่า 1 ล้านตัน/ปี โดย ปตท. กำลังเร่งขยายระบบจัดส่งท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 ในอ่าวไทย เพื่อเพิ่มกำลังการจัดส่งก๊าซให้ประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีก 1 เท่าตัว (เพิ่มเป็น 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) อีกทั้งกำลังเร่งขยายและสร้างโรงงานปิโตรเคมีเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางปิโตรเคมีที่สำคัญในภูมิภาค
จากการที่รัฐได้ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ในครั้งนี้ จะทำให้มีความคล่องตัวและเกิดแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ และ ปตท. สามารถดำเนินการทำธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดย ปตท. คาดว่าจะสามารถเพิ่มการค้าขายได้อีก 1 เท่าตัวใน 2-3 ปีข้างหน้า จากระดับ 600,000 บาร์เรล/วัน (200,000 บาร์เรล/วัน ในประเทศ, 400,000 บาร์เรล/วัน ระหว่างประเทศ) เพิ่มเป็นประมาณ 1 ล้านบาร์เรล/วัน อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมเพิ่มเติมอีกมากในอนาคต
นอกจากการเปิดศูนย์กลางการค้าน้ำมันที่ศรีราชาแล้ว ไทยยังมีศักยภาพทางด้านภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่มีความพร้อมจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานภูมิภาค โดยขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Strategic Energy Landbridge (SELB) ที่ภาคใต้ / โครงการสร้างถนน East West Corridor เพื่อเปิดทางสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน และถนนเชื่อมต่อไปจนถึงประเทศจีนตอนใต้ / ระบบรางรถไฟคู่ระยะทาง 3,000 กิโลเมตร นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน (Petroleum Product Pipeline )ไปภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพร้อมที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนตอนใต้ อีกทั้งโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเชื่อมโดยตรงสู่สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นฐานสำหรับอนาคต เพื่อพลังร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสำรองเพื่อความมั่นคง และความมั่งคั่งให้กับกลุ่มผู้บริโภคทางเอเชียแปซิฟิค และกลุ่มผู้ผลิตทางตะวันออกกลางและแอฟริกา
"ตลาดศูนย์กลางการค้าน้ำมันที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยและศูนย์กลางการค้าในปัจจุบันที่ประเทศสิงคโปร์ จะสามารถสร้างพลังร่วม (Synergy) เป็นศูนย์กลางทางด้านการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมทางด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐศาสตร์ให้กับกลุ่มประเทศผู้ค้าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค " นพ. พรหมินทร์ กล่าวสรุป
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง
กระทรวงพลังงาน โทร/โทรสาร 0-2224-3894 www.energy.go.th--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ