กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
“ส่งจุดแข็งของที่หนึ่ง ไปเติมเต็มจุดอ่อนของอีกที่หนึ่ง เพื่อสร้างพันธมิตรที่ยั่งยืน” เป็นหลักการง่ายๆที่ผู้ประกอบธุรกิจรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่บางครั้งอาจมีการตีความแตกต่างกัน เช่นเดียวกันกับความพยายามอย่างจริงจังของประเทศไทยที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการ “โกอินเตอร์” หรือออกไปโตนอกบ้าน สำหรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ของไทย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งอาเซียน เนื่องจากมีความครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่ปัจจุบันสิ่งทอกำลังเผชิญปัญหาด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ถีบตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายสายป่านทางธุรกิจ ไม่ยาวพอก็ยื้อยุดไม่อยู่ ปิดตัวลงอย่างเงียบๆ จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้เพียงผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้น
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมประเทศไทย ได้ศึกษาเจาะลึกถึงความเป็นไปได้ในการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น สำหรับการยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ล่าสุด สศอ.ได้ไปศึกษาข้อมูลด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในอนาคต อันจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำในอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิ
บังกลาเทศเป็นประเทศเล็กๆ ทางตอนเหนือของอ่าวเบลกอล มีพื้นที่ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับประเทศไทย ประชากรมากติดอันดับ 8 ของโลก คือประมาณ 156 ล้านคน มากเป็น 2 เท่าของประเทศไทย จากจำนวนประชากรที่มโหฬารแต่มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย จึงเป็นเรื่องน่าปวดหัวเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศ ดังนั้น บังกลาเทศจึง ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยให้คนมีงานทำ แม้อัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ยถือว่าต่ำมาก คิดเป็นเงินไทยประมาณ 75 บาทต่อวัน เนื่องจากมีประชากรในวัยทำงานสูงถึง 70% ผู้ประกอบธุรกิจมีทางเลือกในการจ้างคนทำงาน ประชากรวัยแรงงานจึงอยู่ในสภาพทำงานโดยจำยอม
หันมาที่รัฐบาลบังคลาเทศกันบ้าง รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ช่วยให้คนมีรายได้จากการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึง 5 ล้านคนจากจำนวนโรงงานสิ่งทอทั้งสิ้นประมาณ 5,000 โรงงาน ส่วนใหญ่รับจ้างผลิตให้กับเสื้อผ้าแบรนดัง เช่น Wal-Mart, H&M, Zara, Carrefour, GaP, Metro, JC Penney Marks & Spencer, Kohl’s, Levi และ Liz Claiborne เป็นต้น การส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็น 79.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลที่มีอยู่ เมื่อปี 2009 มีมูลค่าการส่งออกถึง 13,369 พันล้านเหรียญสหรัฐ บังกลาเทศตั้งจึงตั้งเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าระดับล่างที่มีราคาถูก โดยไม่ต้องใช้แรงงานฝีมือมากนัก
รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายจูงใจด้านภาษีสำหรับอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone : EPZ) ซึ่งจัดตั้งในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่นยกเว้นไม่เก็บภาษี 10 ปี ยกเว้นการเก็บภาษีอากรจากเครื่องจักร อะไหล่ วัตถุดิบ เครื่องมือก่อสร้าง จัดระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่คลังสินค้า ให้บริการสนับสนุนด้านธุรกรรม และพิธีการทางศุลกากร ณ พื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตดังกล่าว โดยสร้าง EPZ เพิ่มอีก 8 แห่ง กระจายไปยังเมืองต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนให้บริษัททั้งในและต่างประเทศเข้าไปตั้งโรงงานในเขต EPZ โดยมีนักลงทุนตั้งโรงงานผลิตในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 500 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจ้างงานได้กว่า 2 แสนคน
จากสัดส่วนการส่งออกในอุตสาหกรรมสิ่งทอ 79.3% ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด บังคลาเทศจึงพร้อมรับการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานเพื่อผลิตสิ่งทอในการส่งออก เนื่องจากปัจจุบัน มีขีดความสามารถเพียงแค่การผลิตขั้นสุดท้ายเท่านั้น ขณะที่โรงงานต้นน้ำที่มีอยู่มีความสามารถในการผลิตเพียงเส้นด้ายที่มีคุณภาพต่ำ บังกลาเทศจึงมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมทั้งระบบ รวมถึงให้ความสำคัญกับการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เช่น สร้างถนน ทำระบบน้ำปะปา ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งจากจุดนี้เองจึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่นักลงทุนไทย ควรแสวงหาช่องทาง เพื่อเข้าไปร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำให้เกิดขึ้น เป็นการโตนอกบ้าน โดยใช้จุดแข็งไปเติมเต็มจุดอ่อนเพื่อความลงตัว
หันมาวิเคราะห์ถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของไทยกันบ้าง ปัจจุบันกำลังเผชิญกับผลกระทบหลายปัจจัย โดยเฉพาะต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งจากจีน เวียดนาม ที่ผลิตเครื่องนุ่งห่มในต้นทุนที่ต่ำกว่า ตลาดเครื่องนุ่งห่มของไทยจึงคราคร่ำไปด้วยสินค้าจากทั้งสองประเทศดังกล่าว แต่ด้วยจุดแข็งที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสิ่งทอต้นน้ำ จำพวกผ้าผืนได้ดีที่สุดในอาเซียน จึงได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการส่งออกผ้าผืนคุณภาพ ไปยังประเทศที่สามารถผลิตเครื่องนุ่งห่มในต้นทุนที่ต่ำกว่าแทน จึงทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยยืนหยัดอยู่ได้ในภาวะเช่นปัจจุบัน โดยตัวเลขการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย 8 เดือนแรกของปี 2554 ไทยส่งออกสิ่งทอโดยรวม เพิ่มขึ้น 16.59% แยกเป็นสิ่งทอ(ผ้าผืน,การปั่นด้าย,ด้าย ฯลฯ) เพิ่มขึ้น 23.50% ขณะที่เครื่องนุ่งห่ม(เสื้อผ้าสำเร็จรูป)เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอัตราการเติบโตในส่วนของสิ่งทอเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ขณะที่เครื่องนุ่งห่มมีตัวเลขการขยายตัวที่ต่ำลง
การที่อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันอย่างไม่ต้องสงสัย การมองหาพื้นที่เติบโตใหม่ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจึงเป็นทางออกสุดท้ายที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งมองหาทางหนีทีไล่ให้ดี เพื่อให้ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในเส้นทางที่ถากถางมา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยก็เช่นกัน เมื่อก้าวมาไกลมากแล้ว การขยายพื้นที่ไปโตนอกบ้านโดยใช้สิ่งทอต้นน้ำเป็นหัวหอก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจ
การใช้จุดแข็งของไทยโดยเฉพาะสิ่งทอต้นน้ำ ไปเติมเต็มให้บังกาลเทศที่ยังอ่อนมากในสิ่งทอต้นน้ำ จึงเป็นความลงตัวที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามโอกาสในครั้งนี้