กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนมากมาย แต่ก็พลอยทำให้ได้เห็นน้ำใจคนไทยที่หลั่งไหลเข้าช่วยเหลือ หนึ่งในพื้นที่ที่ความเดือดร้อนยังรุนแรง คงหนีไม่พ้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ที่แห่งนี้ ยังมี “นักศึกษา” กลุ่มหนึ่งขันอาสา ขอเข้าไปช่วยเหลือ ...
“ผมมาอยู่ที่นี่ ผมบอกได้เลยว่าผมโคตรมีความสุขเลยครับ” เสียงของ โอ ศราวุฒิ ศรีสุข นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปี 3 จากรั้วแม่โดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง เอ่ยขึ้นทำลายความเงียบ ขัดกับภาพที่พบเห็น ซึ่งบอกได้ชัดว่า สิ่งที่พวกเขาเจอมานั้นก็อาจ “เหนื่อยและหนัก” ไม่ต่างจากผู้ประสบภัยเลยก็ว่าได้
การเดินทางไปให้ความช่วยเหลือของเขาและเพื่อนๆ เยาวชนจิตอาสา เริ่มต้นมาจากความตั้งใจของ เอฟ ภรณ์พฤติยศ ศรียาบ ศิษย์เก่าสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับชุมชนมาตั้งแต่ครั้งเข้าร่วมโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ระดับอุดมศึกษาของธนาคารไทยพาณิชย์ฯ เมื่อสามปีก่อน ในครั้งนี้เมื่อเห็นเพื่อนร่วมชาติประสบภัย จึงขอเป็นตัวตั้งตัวตี นำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ชักชวนเพื่อนๆ ในเครือข่าย “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ที่ยังเรียนหนังสืออยู่ในเขตภาคเหนือ รวมถึงเพื่อนคนอื่นๆ มาให้ความช่วยเหลือ โดยใช้ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้-จิตอาสาภาคเหนือ”
เอฟเล่าว่า การรวมตัวกันครั้งนี้ประกอบด้วยนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง รวมทั้งสิ้น 33 คน เป้าหมายระยะแรกของการเข้าไป เพื่อตั้งโรงครัวทำอาหารปรุงสดใหม่แจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย โดยเลือกอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่เป้าหมาย เหตุเพราะยังมีหลายชุมชนถูกตัดขาด การช่วยเหลือเข้าไปไม่ทั่วถึง
ส่วนการระดมทุนข้าวของให้ความช่วยเหลือ เอฟและเพื่อนๆ ได้ตั้งจุดรับสิ่งของบริจาคที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นวิทยุของจังหวัด รวมถึงชวนกันไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่ถนนคนเดินเทศบาลเมืองลำพูน ทางด้านเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีกิจกรรมระดมทุนเก๋ๆ ไม่น้อยหน้ากัน อย่าง “ตักบาตรเที่ยงคืน” โดยมีสิ่งของบริจาคอีกส่วนหนึ่งได้มาจากการห้างร้านเอกชน รวมถึงมูลนิธิสยามกัมมาจล
“ผมรู้สึกประทับใจในน้ำใจของคนไทยมากๆ ครับ ที่ที่เราไปเปิดหมวกแต่ละที่ เช่นที่ถนนคนเดินลำพูน หรือแม้แต่ที่เชียงใหม่เอง เขาก็เพิ่งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมไปไม่นาน แต่เมื่อไปขอความช่วยเหลือ เขาก็ยินดีช่วย สละเงินกันคนละห้าบาทสิบบาท จนเราได้เงินไปซื้อสิ่งของช่วยเหลือเพิ่มอีกกว่า 9,000 บาท พี่ๆ ที่หอการค้าลำพูนก็ใจดี เห็นเราเล่นดนตรีแต่ไม่มีเครื่องเสียง ก็ช่วยกันลงขันเช่ามาให้ ตรงนี้ถ้าหากต้องเช่ากันเองก็คงเป็นเงินอีกหลายพันบาท” เอฟเล่า
ทั้งนี้ หลังจากได้วางแผนและซักซ้อมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เอฟและเพื่อนจึงเช่ารถสิบล้อลำเลียงคนและสิ่งของลงพื้นที่ โดยยึดริมขอบถนนสายเอเชียใกล้กับเต้นท์ให้ความช่วยเหลือของ อบต.เสาธง เป็นที่ตั้งกองอำนวยการ ตลอดจนถึงเป็นที่กินอยู่หลับนอน ต่อมาจึงได้ลำเลียงเต้นท์สนามหลังใหญ่มาทำหน้าที่คุ้มแดดคุ้มฝน ถึงจะไม่สะดวกสบาย แต่ก็เป็นชัยภูมิที่ดี เดินทางได้สะดวก ใกล้พื้นที่เป้าหมาย เป็นจุดแลกเปลี่ยนข่าวสาร และความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่
“พวกเราลงพื้นที่แล้วตกลงกันว่าจะไม่เบียดเบียนชาวบ้านครับ จะพยายามช่วยเหลือตัวเองกันให้ได้มากที่สุด การได้มานอนข้างถนน อาบน้ำที่ปั้ม หรืออาบน้ำไหลตามชาวบ้าน ก็ทำให้เราเข้าใจสภาพความเดือดร้อนของเขาได้ดี เมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ เราก็จะเปิดใจยอมรับและปรับตัวเข้ากับมันได้ดีขึ้น” โอห์ม วีระ นากระโทก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยสหวิทยาการ รั้วแม่โดม ลำปาง สะท้อน
นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาประจักษ์ถึงปัญหาได้ดี ยังเป็นการลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งพวกเขาพบว่า ยังมีชาวบ้านอีกมากที่การช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ทั่วถึง และค่อนข้างมีน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการในพื้นที่ เมื่อจัดสรรไม่ชัดเจนจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะข้าวของที่ขาดแคลนมากอย่าง อาหาร น้ำดื่ม นมผง ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า และยารักษาโรคตาแดง อีกทั้งการที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จึงเกิดการเน่าเสีย
นักศึกษากลุ่มนี้ยังเล่าด้วยว่า จากการที่ถือหลักที่ว่า “ที่ไหนมีความเดือดร้อนก็จะเข้าไปช่วยเหลือที่นั่น ไม่ปักหลักอยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง” ในละแต่วัน จึงมีการสำรวจพื้นที่ประสบภัยใหม่ๆ อยู่เสมอ ส่วนหนึ่งเพื่อส่งต่อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ผู้ประสบภัย และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลที่เป็นประโยชน์สื่อสารแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือ ทว่าหลังจากมาอยู่ในพื้นที่ได้ราวหนึ่งสัปดาห์ สิ่งของที่เตรียมมาก็เริ่มหมด น้องๆ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใกล้ถึงกำหนดเปิดภาคเรียน สมาชิกบางรายติดธุระ ทำให้บางส่วนต้องเดินทางกลับ เหลือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งยังไม่เปิดภาคเรียนขออาสาอยู่ต่อ
พอดีที่ได้พบกับ ครูอุ๊ วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งศูนย์ “บวร” ซึ่งมีแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยสนับสนุนให้แต่ละ อบต.จัดตั้งโรงครัวชุมชน นำวัตถุดิบในถุงยังชีพที่มีจำนวนน้อยมาทำอาหารปรุงสดใหม่แจกจ่ายอย่างทั่วถึงแทนการแจกถุงยังชีพ ตลอดจนการจัดหาเครื่องกรองน้ำเพื่อบริการน้ำสะอาดแก่ผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งทันทีที่ครูอุ๊ทราบว่านักศึกษามีแนวทางการช่วยเหลือตรงกัน ประกอบกับในพื้นที่ยังต้องการคนทำงาน จึงชักชวนนักศึกษาที่เหลืออยู่ช่วยทำงานที่ศูนย์ฯ เพื่อเยียวยาผู้เดือดร้อนต่อเนื่อง ทำให้น้องๆ จาก มธ.ได้อยู่ต่อ โดยวางแผนไว้ว่าจะอยู่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนครบ 15 วันก่อนเดินทางกลับ
“ถามว่าลำบากไหม ลำบากครับ แต่ทำแล้วมีความสุข รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เราเข้าไปช่วย เราเป็นนักศึกษาจะเรียนรู้แต่ในห้องเรียนไม่ได้ เห็นคนเดือดร้อนแล้วเราก็อยากช่วย ผมไปเห็นบางบ้านที่ไปพบไม่มีน้ำสะอาดใช้ ต้องตักน้ำที่ท่วมมาซาวข้าว เห็นแล้วรู้สึกทนไม่ได้ น้องๆ ในทีม ที่เป็นผู้หญิงก็บอกว่าอยากอยู่ต่อ” โอเล่าต่อถึงความประทับใจ
ไม่ต่างกันกับความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเช่นนี้ มิ้นท์ วัชโรบล ศามี นักศึกษาชั้นปี 1 คณะสังคมสงเคราะห์ มธ.วิทยาเขตลำปาง เล่าว่า ในท่ามกลางความยากลำบาก เราก็ยังได้เห็นสิ่งดีงามที่ผู้คนมีต่อกัน เช่น ลุงคนหนึ่งที่มิ้นท์นำเสื้อผ้าไปมอบให้สามชุด แต่ลุงยืนยันว่าจะขอรับไว้เพียงชุดเดียวเพื่อผลัดกันใส่กับชุดที่ใส่อยู่ ทั้งนี้เพื่อที่มิ้นท์และเพื่อนจะได้นำเสื้อผ้าที่เหลือไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยคนอื่นๆ ความรู้สึกนี้เองทำให้มิ้นท์หายเหนื่อย ส่วนเพื่อนร่วมคณะอย่าง ชมพู่ ชมพูนุช คชโส บอกว่า รู้สึกประทับใจที่ได้รับความเมตตาเอ็นดูจากผู้ประสบภัยกลับมาเสียเอง เช่น ยายคนหนึ่งที่กลับเป็นฝ่ายไต่ถามความเป็นอยู่ของนักศึกษาๆ เมื่อเดินทางกลับก็ขอให้กลับกันโดยสวัสดิภาพ
ด้าน โดนัท ธิติพล วัตตะกุมาร หนุ่มนักกิจกรรมอีกคนจากรั้วแม่โดม เสริมว่า นอกจากได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามที่ตั้งใจไว้แล้ว งานอาสาครั้งนี้ยังทำให้เขาได้เรียนรู้และประทับใจกับมิตรภาพความเป็นเพื่อนของทีมในขณะปฏิบัติงาน ที่ทุกคนจะคอยช่วยเหลือ เป็นห่วงเป็นใยกัน ทำงานร่วมกันอย่างเปิดใจ ไม่เห็นแก่ตัว ทั้งๆ ที่เป็นเวลาเพียงไม่กี่วันที่ได้มารู้จักกัน กลับเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนพวกเขาให้เป็นกลุ่มเพื่อนที่มีความสนิทสนนกลมเกลียวกัน
ส่วน "อาร์ม" ศราวุฒิ เรือนคง นักศึกษาชั้นปี 3 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นอีกคนที่ได้ความรู้สึกดีๆ กลับมา อาร์มเล่าว่าสิ่งที่เขาประทับใจคือการได้สละตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะต้องอดทนกับความยากลำบาก ได้นอนบนพื้นถนนแข็งๆ อาบน้ำในห้องน้ำปั๊ม ทานอาหารแต่พออิ่ม แถมบางครั้งยังเดินลุยน้ำเสียทำให้เกิดอาการคัน แต่เขาก็ผ่านมันมาได้อย่างมีความสุข คุณยายท่านหนึ่งซึ่งอาร์มนำยาไปมอบให้ยังชวนอาร์มคุยและบอกว่า สิ่งที่อาร์มทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ยายอยากเห็นคนในสังคมไทยช่วยเหลือกัน อยู่กันอย่างพี่น้อง เช่นที่นักศึกษาเข้ามาให้ความช่วยเหลือ คำพูดของยายทำให้อาร์มฉุกคิดถึงสังคมของเรา และตั้งใจว่าจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ความคาดหวังของยายเป็นจริง
ขณะที่ แยม ผกาวดี เมืองมูล นักศึกษาชั้นปี 4 คณะรัฐศาสตร์และรัฐศาสปนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าบ้างว่าอาศัยที่ตัวเองเข้ากับเด็กได้ดี จึงชวนเด็กๆ ผู้ประสบภัยมาทำกิจกรรมวาดรูประบายสี บ้างก็สอนหนังสือและชวนคุย แยมเชื่อว่าเวลาที่คนเรากำลังอยู่ในจินตนาการและสร้างสรรค์อะไรสักอย่างจะเป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุข อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้เด็กๆ กลุ่มนี้มีสภาพจิตใจดีขึ้นมาบ้าง อีกทั้งเมื่อได้ลงพื้นที่เห็นชาวบ้างมีกำลังใจดีก็ทำให้เธอรู้สึกดีตามไปด้วย
“แยมคิดว่านี่เป็นห้องเรียนที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตการเป็นนักศึกษา การลงพื้นที่จริงเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เราเกิดมุมมองและทัศนคติใหม่ๆ มากมาย ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร จนได้คำตอบกับตัวเองว่า “เพื่อรับใช้สังคม” โดยมีชุมชนนี่แหละเป็นห้องเรียนที่ดีที่สุด มันทำให้เราได้รู้ว่าจุดเริ่มต้นของการมีจิตอาสา การปรารถนาดีต่อผู้อื่น การเสียสละ คำนึงถึงผู้อื่น ท้ายที่สุดแล้วผลที่ได้มันสะท้อนกลับมาที่ตัวเราเองมากที่สุด ถ้าเราเปิดหัวใจเราก็จะได้ทั้งความสุขใจ และการเรียนรู้ที่มีคุณค่า” สาวน้อยนักกิจกรรมเล่าอย่างมีความสุข
การลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยของนักศึกษาจึงไม่ใช่เพียงการเยียวยาช่วยเหลือผู้ร่วมสังคมที่ตกทุกข์ได้ยาก หากแต่ยังได้เติมเต็มเมล็ดพันธุ์คุณค่าและความหมายของการเป็น “ผู้ให้ — ผู้รับ” พื่อเติบโตและเบ่งบานในหัวใจของพวกเขาไปพร้อมๆ กัน โดยการช่วยเหลือในระยะต่อไปจะเป็นการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลด อาทิ กาชักชวนเพื่อนนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาสังคมสงเคราะห์เข้าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจผู้ประสบภัย การใช้ EM ปรับสภาพน้ำที่ท่วมขัง การซ่อมแซมบ้านเรือน และการทำความสะอาดโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้มีที่เรียนหนังสืออีกครั้ง