กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
สกู๊ป เครือรพ. กรุงเทพ เตือนสารพัดโรคแฝงมากับน้ำท่วม
โดย รอ.นพ. พันเลิศ ปิยะลาศ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
เครือโรงพยาบาลกรุงเทพเตือนผู้ประสบภัย รับมือสารพัดโรคเสี่ยงมาพร้อมน้ำท่วม โรคทางเดินอาหาร-ฉี่หนู ท๊อปฮิต ต้องเฝ้าระวัง แนะดื่มน้ำสะอาด สังเกตอาการเบื้องต้นของโรค และรีบพบแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติรุนแรง
รอ.นพ. พันเลิศ ปิยะลาศ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วม ณ ปัจจุบัน นอกจากจะต้องขนย้ายทรัพย์สินขึ้นสู่ที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว การดูแลสุขภาพให้ปลอดโรคที่มากับน้ำยังเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
โรคภัยที่มากับน้ำนั้นมีหลากหลาย โดยเฉพาะโรคติดต่อและอันตรายที่มากับภาวะน้ำท่วมและหลังน้ำลด เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม โรคระบบทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ โรคน้ำกัดเท้า และโรคฉี่หนู ที่ทำให้มีไข้สูงฉับพลัน และเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่นเด็กเล็ก นอกจากนั้นภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ยังก่อให้เกิดโรคที่มาจากแมลงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก, มาลาเรีย ควรระมัดระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน นอนในมุ้ง ทายากันยุง สามารถป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวได้
การดูแลตนเอง และสังเกตอาการผิดปกติในเบื้องต้นจะช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากไข้หวัดใหญ่และปอดบวม
เลือกทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิท น้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระลงในน้ำ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของโรค
เพื่อความแน่ใจ ควรต้มน้ำดื่มให้เดือดเพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำ ในส่วนของน้ำใช้ หากไม่แน่ใจว่าน้ำที่เราใช้มีความสะอาดเพียงพอหรือไม่ ให้ใช้ผงปูนคลอรีนทำลายเชื้อโรคในน้ำ โดยคลอรีนสามารถทำลายเชื้อโรคได้มากกว่า 99% รวมทั้ง อี.โคไล (E.coli) และเชื้อไวรัส นอกจากนี้ผงปูนคลอรีนสามารถเพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำได้ ซึ่งการใช้คลอรีนอย่างระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย
สำหรับการป้องกันตัวเองจากโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส นั้น ควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน และป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำโดยการสวมร้องเท้าบู๊ทยาง หากไม่สามารถเลี่ยงได้ควรรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด
หากพบอาการระคายเคืองบริเวณตา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตาแดง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที หรือถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรก อย่าให้แมลงตอมตา และหลีกเลี่ยงที่จะใช้ของร่วมกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
นอกจากนี้อุบัติเหตุที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม สามารถป้องกันได้โดยถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง
การเก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคม ในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคมได้แล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือนได้ด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม สิ่งแรกที่ต้องทำคือ มีสติ อย่าตกใจหรือกลัวจนขาดสติ ควรเตรียมตัว เตรียมใจรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ติดตามรายงานของทางราชการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนศึกษาขั้นตอนการอพยพ ระบบการเตือนภัย เส้นทางการเคลื่อนย้ายในกรณีเร่งด่วน
นอกเหนือจากโรคที่แฝงมากับน้ำแล้วยังพบปัญหาการขาดยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่อง ควรจัดเตรียมยาประจำตัวของตนเองให้พร้อมอยู่เสมอในภาชนะที่ปิดกันน้ำได้
ภาวะเครียด อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย ซึมเศร้าและวิตกกังวล เกิดขึ้นได้กับผู้ประสบภัย ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปได้เอง แต่ต้องใช้เวลา ทางที่ดีควรปรึกษา พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงเพื่อปรับทุกข์ และรับฟังปัญหา เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจและคลายความวิตกกังวล แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ หรือนักส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อรับฟังคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป
หากมีข้อสงสัย หรือมีอาการเจ็บป่วยให้รีบปรึกษาแพทย์ที่ใกล้ที่สุด หรือมีปัญหาสงสัยเพิ่มเติมสอบถาม รพ.กรุงเทพ โทร 1719
ปานฤทัย คงยิ้มละมัย (ปิงปอง) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด Email : mascotcom1@hotmail.com
อำไพพรรณ นภาสกุลคู (โอ่ง) 086-351-7729
พิมวิชา อาตมประสังสา (ฟูก) 086-371-2060